logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

Link: http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9530000148616

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กล่าวว่า ขณะนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มีความพยายามในการผลักดันร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ เมดิคัล ฮับ (Medical Hub) พ.ศ.2553-2557 ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 3,131.795 ล้านบาท โดยเตรียมเสนอ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งๆ ที่ร่างดังกล่าวมีความไม่ครบถ้วนและขัดต่อธรรมนูญสุขภาพ เนื่องจากเป็นการนำสุขภาพที่เน้นเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งดึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขไปสู่ภาคเอกชน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคสาธารณสุขของสังคมไทย คือ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาฯ ที่มี นางศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา เป็นประธาน ได้ประชุมหารือถึงผลการศึกษาแผนการดำเนินการด้านเมดิคัล ฮับ ซึ่งพบว่า ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวมุ่งเน้นเชิงพาณิชย์เกินไป สังเกตได้จากความต้องการให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านสุขภาพถึงร้อยละ 70 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการดึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น และสุดท้ายจะส่งผลต่อการกระจายตัวของแพทย์ในชนบท ซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลน การดำเนินการดังกล่าวนั้นเป็นการขัดต่อหลักธรรมนูญสุขภาพอย่างชัดเจน ดังนั้น คณะกรรมการจึงมีมติว่าควรทำหนังสือไปถึงรัฐบาลผ่าน คกก.สุขภาพแห่งชาติ ให้พัฒนานโยบายด้านนี้โดยไม่อิงเชิงพาณิชย์เกินไป ซึ่ง สบส.ควรชะลอร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวก่อน โดยควรรับฟังจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อนำมาปรับแก้ยุทธศาสตร์ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และสอดรับกับสภาพสังคมไทยมากขึ้น

“นอกจากจะกระทบต่อการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์แล้วยังส่งผลต่อ ประสิทธิภาพการบริการรักษาสุขภาพแก่ประชาชนลดลงด้วย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้น เช่น กรณีที่เนื้อหาในยุทธศาสตร์ที่ระบุว่า จัดให้มีการบริการสุขภาพร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในลักษณะ Public Private Partnership (PPP) ซึ่งตรงนี้จะยิ่งทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐกระจายไปภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เรียกว่าเป็นการขัดธรรมนูญสุขภาพว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากตามหลักการของรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น รัฐควรทุ่มเททรัพยากรเพื่อสร้างระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ควรส่งเสริมการแพทย์ในเชิงพาณิชย์” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ในเรื่องของนโยบายเมดิคัล ฮับ ทางคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นดังกล่าวขึ้น เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อหารือร่วมกัน และจะได้ข้อสรุปภายในงานสมัชชาฯครั้งนี้ก่อนจะจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป โดยจะมีการหารือประเด็นการพัฒนานโยบายเมดิคัล ฮับในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ที่กำลังจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-17 ธ.ค.นี้

นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดี สบส.กล่าวว่า ขอชี้แจงว่า การดำเนินงานตามโครงการเมดิคัล ฮับ มียุทธศาสตร์หนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้แพทย์สมองไหลไปยังโรงพยาบาลเอกชน คือ การจัดทำโครงการความร่วมมือด้านการจัดบริการสุขภาพร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในลักษณะ PPP ซึ่งจะอนุญาตให้แพทย์ออกไปทำการรักษาในภาคเอกชนได้เฉพาะนอกเวลาราชการเท่านั้น หากจะออกไปทำในเวลาราชการจะไม่อนุญาตเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า การดำเนินงานดังกล่าวจะยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ประชาชนจะได้ประโยชน์จากการบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น

22 ตุลาคม 2553

Next post > “จุรินทร์”ทีมแพทย์ พยาบาล ลงเรือตรวจรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

< Previous post สปสช.แจง สพศท.จ่ายเงินตาม DRG ที่ผ่านคณะทำงานจาก สธ.

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด