logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

Link: http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9530000148650

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ มีพื้นที่ประสบภัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 3 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ และ ลพบุรี ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพื้นที่ประสบภัยตั้งแต่ 10-20 ต.ค.จำนวน 69 หน่วย พบผู้ป่วย 7,967 ราย โรคที่พบมากที่สุด คือ น้ำกัดเท้าร้อยละ 46 ไข้หวัดร้อยละ 25 เครียด วิตกกังวล ร้อยละ 9 โดยได้สั่งการให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทุกจังหวัด สำรองยารักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคลมชักเพิ่มไปด้วย เนื่องจากในชุมชนอาจมีผู้ป่วยเหล่านี้อยู่ และยาอาจใกล้หมด โดยได้แจกยาสามัญประจำบ้านไปแล้วจำนวน 279,000 ชุดในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ 1.จ.นครราชสีมา ยาสามัญประจำบ้าน 25,000 ชุด ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า 10,000 หลอด และยาแก้คัน 10,000 หลอด ส่งยาสามัญประจำบ้านให้ลพบุรี เลย และนครสวรรค์จังหวัดละ 10,000 ชุด ฉะเชิงเทรา 5,000 ชุด และ จ.พระนครศรีอยุธยา 2,500 ชุด ส่งยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ให้จังหวัดสระบุรี 2,500 หลอด ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรองยาสามัญประจำบ้านไว้ 500,000 ชุด ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า 50,000 หลอด ยาแก้คัน 50,000 หลอด โดยได้ให้องค์การเภสัชกรรมเตรียมผลิตสำรองไว้อีก 17 ล้านบาท

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัด สธ.ในฐานะประธานศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า จากการที่เกิดภัยน้ำท่วมในพื้นที่ 21 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ราย จากการเป็นตะคริว จมน้ำ รถยนต์ตกน้ำและพลัดตกนา เป็นต้น ขณะที่สถานพยาบาลสังกัด สธ.ทั้งโรงพยาบาลและสถานีอนามัย (สอ.) ได้รับความเสียหาย 99 แห่ง ส่วนการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้ออกหน่วยแพทย์แล้ว 69 หน่วย มีผู้มารับบริการตรวจรักษา 8,400 ราย บริการสุขศึกษา 9,451 ราย และเยี่ยมบ้าน 81 หมู่บ้าน อีกทั้งประสานให้ทุกรมที่เกี่ยวข้องส่งทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ เช่น กรมควบคุมโรคดูแลเกี่ยวกับโรค กรมสุขภาพจิต เยียวยาผู้ประสบภัย กรมอนามัยดูแลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและกรมสนับสนุนบริการสาธารณสุข (สบส.) ตรวจสอบความเสียหายของเครื่องมือแพทย์

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ รมว.สธ.ได้สั่งการให้มีการดำเนินการใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.สถานพยาบาลสังกัด สธ.ทุกแห่ง คลินิก และโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะต้องให้บริการรักษาฟรีกับผู้ป่วยทั้งที่เป็นในเขตและนอกเขตให้บริการโดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในภายหลัง 2.สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในจังหวัดที่น้ำยังไม่ท่วมแต่มีแนวโน้มและเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมโดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคอีสานตอนล่าง และภาคตะวันออก ดำเนินการเตรียมความพร้อมให้สถานพยาบาลทุกแห่งโดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลจังหวัด จัดเตรียมทรัพยากร เช่น ออกซิเจนให้พร้อมและให้เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล นอกจากนี้ ให้จัดทำแผนป้องกันบริเวณพื้นที่คลังเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์และเครื่องปั่นไฟ รวมทั้งจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้ดีหากจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วย และ 3.ในกรณีฉุกเฉินจะต้องปรับระบบบริการให้สอดคล้องโดยเฉพาะการจัดทีมบุคลากรเสริมจากภายในจังหวัดและเขตพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข เปิดรับบริจาค เวชภัณฑ์ เงิน และสิ่งของ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ โดยจะจัดหาเวชภัณฑ์ที่ขาดแคลน โดยสามารถนำสิ่งของมาบริจาคได้ที่ สำนักงานเลขานุการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และบัญชีชื่อ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อผู้ประสบภัย ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 340-2-11600-7 สอบถามเพิ่มเติมหมายเลข 02 590 7104-5, 02 590 7196

22 ตุลาคม 2553

Next post > “จุรินทร์”ทีมแพทย์ พยาบาล ลงเรือตรวจรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

< Previous post สปสช.แจง สพศท.จ่ายเงินตาม DRG ที่ผ่านคณะทำงานจาก สธ.

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด