logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

สธ. เผยพิษน้ำท่วม พบผู้ป่วยเกือบ 8,000 ราย ให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่พกยาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคลมชักเพิ่ม

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=34285

         วันนี้ (21 ตุลาคม 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยของกระทรวงสาธารณสุข ว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ มีพื้นที่ประสบภัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 3 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิและลพบุรี ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพื้นที่ประสบภัยตั้งแต่ 10- 20 ตุลาคม 2553 จำนวน 69 หน่วย พบผู้ป่วย 7,967 ราย โรคที่พบมากที่สุด คือน้ำกัดเท้าร้อยละ 46 ไข้หวัดร้อยละ 25 เครียด วิตกกังวล ร้อยละ 9


          นายจุรินทร์กล่าวว่า วันนี้ได้สั่งการให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทุกจังหวัด สำรองยารักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคลมชักเพิ่มไปด้วย เนื่องจากในชุมชนอาจมีผู้ป่วยเหล่านี้อยู่และยาอาจใกล้หมด โดยได้แจกยาสามัญประจำบ้านไปแล้วจำนวน 279,000 ชุด ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งยาให้ 7 จังหวัดดังนี้ จังหวัดนครราชสีมา ยาสามัญประจำบ้าน 25,000 ชุด ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า 10,000 หลอด และยาแก้คัน 10,000 หลอด ส่งยาสามัญประจำบ้านให้ลพบุรี เลย และนครสวรรค์จังหวัดละ 10,000 ชุด จังหวัดฉะเชิงเทรา 5,000 ชุด และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2,500 ชุด ส่งยารักษาโรคน้ำกัดเท้าให้จังหวัดสระบุรี 2,500 หลอดขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรองยาสามัญประจำบ้านไว้ 500,000 ชุด ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า 50,000 หลอด ยาแก้คัน 50,000 หลอด โดยได้ให้องค์การเภสัชกรรมเตรียมผลิตสำรองไว้อีก 17 ล้านบาท    


          ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลสรุปที่ประชุมวอร์รูมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งตั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้ได้สั่งการ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ยังไม่ได้รับความเสียหายในภาคกลาง อีสานตอนล่าง วางแผนสำรองทรัพยากรใช้ดูแลผู้เจ็บป่วยหากเกิดน้ำท่วม และสถานบริการสาธารณสุขที่เสี่ยงน้ำท่วมให้เตรียมแผนป้องกันจุดสำคัญ เช่น โรงไฟฟ้า โรงครัว ห้องเอ็กซเรย์ เตรียมเคลื่อนย้ายเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่สำคัญ เตรียมแผนส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่น้ำท่วม และปรับระบบบริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์


         ประเด็นที่ 2 สั่งการให้กรมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมไปในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ลพบุรี และชัยภูมิ เพื่อประเมินผลกระทบต่อสุขภาพทุกด้าน วางแผนป้องกันโรคต่างๆและรับมืออย่างเต็มที่ โดยดูเรื่องการเฝ้าระวังโรค การประเมินอนามัยสิ่งแวดล้อมในวงกว้างและเฉพาะกิจ การประเมินสุขภาพจิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการซ่อมแซมเครื่องมือแพทย์ที่เสียหาย และประเมินความเสียหายสถานพยาบาล และประเด็นที่ 3 จัดทำแนวทางประสานงานจังหวัดที่ประสบภัยให้คล่องตัว ทั้งด้านข้อมูล การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และแนวทางการปฏิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

22 ตุลาคม 2553

Next post > “จุรินทร์”ทีมแพทย์ พยาบาล ลงเรือตรวจรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

< Previous post สปสช.แจง สพศท.จ่ายเงินตาม DRG ที่ผ่านคณะทำงานจาก สธ.

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด