logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

สธ. เผยคนไทยร้อยละ 90 ตื่นล้างมือมากขึ้น จัดรณรงค์ล้างมือสกัดเชื้อโรค

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=34238

         เมื่อวันที่ ( 18 ตุลาคม 2553) กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมรณรงค์เด็กไทยมือสะอาด ปราศจากโรค     “ล้างมือทุกครั้ง หยุดยั้งเชื้อโรค” เนื่องในวันล้างมือโลก เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนล้างมือทุกครั้ง หวังช่วยลดการแพร่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยมี นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน

         สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ได้กำหนดให้มีวันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day) ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 15 ตุลาคม 2551 เพื่อสร้างวัฒนธรรมการล้างมือให้สะอาดถูกสุขอนามัยขึ้นมาทั่วโลก โดยข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟพบว่า ในแต่ละปีมีเด็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงถึงราว 3.5 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคปอดบวมอีกประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งการล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้ถูกวิธีจะช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ถึงร้อยละ 50  และจากโรคปอดบวมได้ประมาณร้อยละ 25 รวมทั้งการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกายังพบว่า การล้างมืออย่างถูกวิธีเพียง 15 วินาที จะสามารถลดเชื้อโรคได้ถึงร้อยละ 90 

          จากการสำรวจในแหล่งชุมชนที่มีผู้สัญจรในกรุงเทพมหานคร ปี 2552 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่             มีพฤติกรรมการล้างมือก่อนทานอาหารร้อยละ 61 และมีการล้างมือด้วยน้ำและสบู่หลังเข้าส้วมร้อยละ 87          โดยการศึกษาพบว่า ร้อยละของการปนเปื้อนของเชื้อโรคในมือมีปริมาณไม่สูงมาก คิดเป็นร้อยละ 12                  ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการสัมภาษณ์ในเชิงพฤติกรรมที่พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องการล้างมือมากขึ้นถึงร้อยละ 90  แต่พบว่าประชาชนบางส่วน ถึงแม้จะเห็นความสำคัญของการล้างมือ แต่ยังมีวิธีการล้างมือที่ไม่ถูกต้องคือล้างด้วยน้ำเปล่าร้อยละ 41

           เนื่องในวันล้างมือโลกในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย จึงได้จัดกิจกรรมโครงการรณรงค์เด็กไทยมือสะอาด ปราศจากโรค “ล้างมือทุกครั้ง หยุดยั้งเชื้อโรค” ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อการสร้างสุขนิสัยที่ดีด้วยการล้างมือที่ถูกต้อง โดยประชาชนต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งภายหลังทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ ทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร  เตรียมอาหาร หรือปอกผลไม้  หลังการใช้ห้องน้ำหรือห้องส้วม หลังการไอ จาม หรือไปสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หลังทำความสะอาดบ้านและบริเวณบ้าน หลังสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งการสร้างพฤติกรรมดังกล่าวจะสามารถช่วยลดพาหะการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้

          สำหรับวิธีการล้างมือที่ถูกต้องนั้น มีด้วยกัน 7 ขั้นตอนง่าย ๆ  คือ 1. ฝ่ามือถูกัน   2. ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว  3. ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว 4. หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 5. ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 6. ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ และ 7. ถูรอบข้อมือ

 

 

21 ตุลาคม 2553

Next post > โรงพยาบาลชัยภูมิ ยังเปิดให้บริการตามปกติ เมื่อคืนนี้ทำคลอด-ผ่าตัด 9 ราย น้ำเริ่มลดเล็กน้อย

< Previous post รมช.สธ.เผยผู้ประสบภัยน้ำท่วมปักธงชัย 2 ใน 3 เครียด

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด