logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

สธ.จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจรักษาผู้ประสบภัยน้ำท่วมฟรีเต็มที่ ส่วนน้ำท่วมที่ปากช่อง

รถหวอวิ่งส่งผู้ป่วยหนักจากรพ.ปากช่องไปเมืองโคราชยากขึ้น ใช้เวลาไปกลับนานถึง 6 ชั่วโมง

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=34184

          กระทรวงสาธารณสุขจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วมอย่างเต็มที่ฟรีทุกพื้นที่ ผลกระทบจากน้ำท่วมที่อ.ปากช่อง ทำให้รถพยาบาลวิ่งส่งผู้ป่วยหนักจากรพ.ปากช่องนานาไปที่อ.เมืองนครราชสีมายากลำบาก ใช้เวลาเดินทางไปกลับเพิ่มจาก 3 เป็น 6 ชั่วโมง ต้องเปลี่ยนส่งรักษาที่รพ.สระบุรีแทน ส่วนรพ.มหาราชนคราชสีมาขณะนี้ มีความเสี่ยงสูงน้ำอาจท่วม เตรียมแผนรับมือป้องกันผลกระทบทั้งหมดแล้ว 
         

           นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้าท่วมในขณะนี้ว่า นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ประสบภัย จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้การดูแลสุขภาพประชาชนทั้งโรคทางกายและผลกระทบจิตใจ รวมทั้งแจกยาสามัญประจำบ้านให้ฟรีอย่างเต็มที่ ที่จังหวัดนครราชสีมาวันนี้จัดหน่วยแพทย์ 4 ทีมใหญ่ที่อ.ปากช่อง อ.ปักธงชัย และด่านขุนทด ส่วนที่สระแก้วจัดหน่วยแพทย์บริการ 3 ตำบลคือท่าข้าม บ้านในหนองไซ และฟากห้วย โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อมหน่วยแพทย์ฉุกเฉินพร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรแจ้งที่หมายเลข 1669 ฟรี โดยมาตรการหลักในการดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุขจะเน้นที่การให้การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเช่นโรคเบาหวาน โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง ไม่ให้มีปัญหาขาดยา และการป้องกันการเสียชีวิตจากงูพิษกัด การฆ่าตัวตายและการเสียชีวิตจากโรคที่มากับน้ำท่วม ที่สำคัญและพบได้บ่อยคือโรคฉี่หนู

            นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีน้ำท่วมเส้นทางที่อ.สีคิ้ว และสูงเนินด้วย ส่งผลให้การส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักจากรพ.ปากช่องนานา ไปรักษาต่อที่อ.เมืองคือที่รพ.มหาราชนครราชสีมา เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้เส้นทางอ้อม ใช้เวลาส่งผู้ป่วยนานกว่าเดิม 2 เท่าตัว ปกติใช้เวลาไปกลับ 3 ชั่วโมง แต่เมื่อวานนี้ส่งผู้ป่วย 2 ราย ใช้เวลาเดินทางไป-กลับรายละ 6 ชั่วโมง จึงได้ปรับแผนให้ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลสระบุรีแทน ซึ่งเดินทางสะดวกใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง

           ทางด้านแพทย์หญิงสุวรรณี ตั้งวีระพงษ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการรพ.มหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบจากฝนตกหนักครั้งนี้ รพ.มหาราชฯมีความเสี่ยงถูกน้ำท่วมค่อนข้างสูง ซึ่งเคยมีบทเรียนเมื่อช่วง 3 ปีก่อน ในปีนี้จึงได้วางแผนป้องกันผลกระทบอย่างเต็มที่ โดยตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังสถานการณ์ใกล้ชิด ซักซ้อมความพร้อมเจ้าหน้าที่ตามแผนปฏิบัติการน้ำท่วมวารี 1, 2, 3 ล่วงหน้า ขนย้ายเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ไว้ที่ปลอดภัย พร้อมทั้งประสานฝ่ายทหารตำรวจขอสำรองยานพาหนะรับส่งผู้ป่วยและญาติ และทำกระสอบทราย 300 ถุง กั้นจุดที่มีความเสี่ยง 2 จุดคือที่โรงซักฟอกเสื้อผ้าผู้ป่วย โรงครัวทำอาหารผู้ป่วย และติดตั้งเครื่องสูบน้ำในโรงพยาบาลเพิ่มเป็น 3 เครื่อง จัดระบบสำรองไฟฟ้าฉุกเฉินครบถ้วน สามารถใช้การได้ทันทีหากกระแสไฟฟ้าหลักดับ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่องานบริการผู้ป่วย ซึ่งต่อวันมีผู้ป่วยนอนรักษาประมาณ 1,400 ราย และมีผู้ป่วยตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกในวันราชการเฉลี่ยวันละ 4,000 ราย โดยจะประชุมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในบ่ายวันนี้

18 ตุลาคม 2553

Next post > สธ.ปรับระบบบริหารจัดการพื้นที่น้ำท่วม เริ่มทยอยย้ายผู้ป่วยหนักจาก รพ.มหาราช 40 ราย ไปขอนแก่นและรพ.ค่ายสุรนารี

< Previous post อย.ชี้ยาทำแท้งทางเว็บไซต์เป็นยาอันตราย เผยปี51-53 สั่งปิดไปแล้ว 327 เว็บไซต์

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด