logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

เลขาธิการ สช. ค้านคลังเปิดช่อง “บ.ประกัน” รับภาระแทนรัฐ ดูแลค่ารักษาพยาบาล ขรก.

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1286884144&grpid=&catid=04

           นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยถึงกรณีการจัดระบบสวัสดิการข้าราชการค่ารักษาพยาบาลใหม่ ที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดให้สมาคมประกันชีวิตไทยเข้ามารับภาระแทนภาครัฐ  ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ซึ่งต้องดูว่ากระทรวงการคลังนำข้อมูล งานวิจัยอะไรมาอธิบายเหตุผลและมารองรับแนวคิดนี้ ดูจากตัวอย่างกรณีผู้เอาประกันจากการประสบภัยจากรถยนต์ที่มีปัญหาในการใช้สิทธิมาก ได้สะท้อนการบริหารจัดการของบริษัทประกันภัยพอสมควร เรื่องนี้จึงต้องดูระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐเป็นตัวอย่าง

           “หากแก้ปัญหาด้วยการใช้ระบบประกันนั้นอาจจะกระทบเรื่องสิทธิของผู้เอาประกันด้วย ขอถามกระทรวงการคลังว่า การตัดสินใจเรื่องนี้ข้าราชการซึ่งมีอยู่หลายล้านคนได้ร่วมรับรู้มาก่อนหรือไม่ ข้าราชการผู้ใช้สิทธิได้มีโอกาสมีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อข้าราชการทั้งประเทศ ห่วงว่าการแก้ไขปัญหานี้จะคิดแบบโดดๆ”

            เลขาธิการ สช. กล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการที่นับวันจะใช้งบประมาณสูงขึ้นนั้น ต้องดูที่ระบบการบริหารจัดการ การออกแบบระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล เพราะการใช้จ่ายในเรื่องนี้เป็นการใช้จ่ายเงินสาธารณะ การแก้ปัญหาต้องดูการออกแบบระบบ และกลไกการให้บริการ ดังนั้น ควรมีกองทุนบริหารสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการที่เป็นองค์กรสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร เข้ามาดูแล ไม่ใช่มุ่งแก้ปัญหาเพียงลดจำนวนตัวเม็ดเงินอย่างเดียว

            เมื่อถามถึงแนวทางในการแก้ปัญหาสวัสดิการข้าราชการ เลขาธิการ สช. กล่าวว่า เราต้องดูว่าปัญหาของเรื่องนี้จริงๆ อยู่ที่ไหน ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของข้าราชการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นั้นมาจากระบบสวัสดิการข้าราชการที่ให้เบิกจ่ายแบบไม่อั้นใช่หรือไม่  ข้าราชการสามารถรักษาพยาบาลที่ไหนก็ได้ วันละกี่บาทก็ได้ ไม่มีการกำจัดวงเงิน จึงทำให้เกิดการใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น ดังนั้นการแก้ปัญหาระบบสวัสดิการข้าราชการนั้นต้องคิดทั้งระบบ
สำหรับแนวคิดที่กระทรวงการคลังเสนอมานั้น นพ.อำพล กล่าวว่า เป็นการคิดแก้ปัญหาแบบคิดไม่ครบ ไม่มีหลักประกันว่าข้าราชการจะใช้จ่ายรักษาพยาบาลลดลง เพราะตัวระบบการให้บริการยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องควบคุม ต้องดูแลทั้งระบบ ถามว่า การให้สิทธิแบบไม่อั้นนั้นถูกต้องแล้วหรือไม่ การแก้ปัญหาแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงกัน และยังสร้างปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

           เลขาธิการสช. กล่าวด้วยว่า สิ่งที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการกระทบต่อสวัสดิการของข้าราชการและครอบครัว เรื่องนี้ข้าราชการควรจะมีสิทธิและมีส่วนร่วมรับรู้ ร่วมตัดสินใจ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินใจการกระทำ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อตนเองด้วย

           ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว เห็นว่าไม่ควรเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหานี้หรือควรเป็นแนวทางสุดท้ายในการแก้ปัญหา เพราะระบบประกันภัยนั้นเป็นระบบเอกชนที่มุ่งเอากำไรเป็นหลักมากกว่าที่จะดูแลประชาชน

“การดำเนินการแบบนี้จะต้องจ่ายค่าบริหารจัดการให้บริษัทประกันภัยอย่างน้อย 40% ดังนั้น จะทำให้เงินค่าใช้จ่ายที่จะไปถึงข้าราชการนั้นมีแต่จะลดลงกว่าที่ควรจะเป็น และเมื่อเทียบกับค่าบริหารจัดการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้นั้นไม่ถึง 1% ซึ่งต่างจากกรณีนี้ถึงประมาณ 40-50 เท่า” นพ.วิชัย กล่าว และว่า ตนไม่เชื่อว่าจะทำให้เกิดผลดี ข้าราชการมีแต่จะเดือดร้อน เพราะบริษัทประกันจะสร้างเงื่อนไขต่างๆ มาทำให้ใช้สิทธิได้ยากขึ้น มีตัวอย่างมากมายที่น่าละอายใจจากบริษัทประกันภัย ที่เวลาผู้ประกันจะใช้สิทธิทีไรก็จะมีเงื่อนไขยุ่งยากมากเข้ามาทุกครั้ง รวมถึงตัวอย่างกรณีผู้ประสบภัยจากรถยนต์ที่เป็นอยู่ด้วย ซึ่งนี่คือระบบมาตรฐานปกติของการบริหารจัดการประกันภัยทั่วโลกที่ธุรกิจ ประกันจะมุ่งเอากำไรเป็นหลัก

 

13 ตุลาคม 2553

Next post > “จุรินทร์” เผยสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในกทม.ดีขึ้น ผู้ป่วยลดลง จับมือกทม.คุมเข้มต่อเนื่องอีก 5 เดือน

< Previous post การประชุมเพื่อรายงานผลการประเมินการความสำคัญของหัวข้อปัญหาและเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่จะเข้าสู่การประเมินฯ

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด