logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

ดีเดย์ 31 ธ.ค.เกลือ-น้ำปลา-ซอส-ซีอิ๊ว เสริมไอโอดีน ป้องกันคนไทยไอคิวต่ำ

http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9530000143692

          มีผลบังคับใช้วันที่ 31 ธ.ค.53 ที่ฉลากเกลือบริโภค ต้องระบุว่า “เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน” ส่วนผลิตภัณฑ์ปรุงรสดังกล่าว ต้องระบุว่า “ใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน” หรือระบุปริมาณไอโอดีนอย่างใดอย่างหนึ่ง มีผลให้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ปรุงรสดังกล่าวเสริมไอโอดีนไปโดยปริยาย เตือน! ผู้ประกอบการ ให้รีบปฏิบัติตามกฎหมายหากพบฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
      
          นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่ต้องการให้คนไทยไม่ขาดสารไอโอดีน ไอคิวไม่ต่ำไปกว่าสถิติที่องค์การอนามัยโลกเคยสำรวจ โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์
      
          4 ประเภท ได้แก่ เกลือบริโภค น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง เช่น ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว ต้องเสริมไอโอดีนตามปริมาณที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไปนั้น ขณะนี้ อย.ได้เร่งผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ประเภท สามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมาย โดยต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนกับ อย.โดยจะต้องมีเลขสารบบในเครื่องหมาย อย.พร้อมฉลากต้องแสดงว่ามีการเสริมไอโอดีนด้วยตัวอักษรที่ชัดเจน ซึ่งการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ปรุงรสดังกล่าวเสริมไอโอดีน ทำให้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว มีสารไอโอดีนเสริมด้วยโดยปริยาย ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เสริมไอโอดีนได้โดยพิจารณาจากข้อความที่แสดงเพิ่มเติมบนฉลาก เช่น “ใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน” หรือ “ใช้เกลือเสริมไอโอดีน” หรือ “ผสมเกลือไอโอดีน” อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว หากผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ 4 ประเภทดังกล่าวรายใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีความผิด ในกรณีต่างๆ เช่น
      
          – กรณีไม่ได้ขออนุญาตเลขสารบบอาหาร หรือแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต้องถูกปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท
          – กรณีคุณภาพมาตรฐานไม่เป็นไปตามประกาศฯ กำหนด เข้าข่ายเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ต้องถูกปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
          – กรณีที่ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารขาด หรือเกินกว่าร้อยละ 30 จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด
       เข้าข่ายอาหารปลอม ต้องถูกจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาทถึง 1 แสนบาท
      
          เลขาธิการ อย.กล่าวในตอนท้ายว่า หลังจากที่ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว อย.จะดำเนินการติดตามตรวจสอบ รวมทั้งเฝ้าระวังสถานที่ผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าว หากพบว่าผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคได้ว่า สามารถได้รับสารไอโอดีนอย่างทั่วถึง และป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนได้อย่างยั่งยืน เพื่อสติปัญญาของคนไทยจะได้ไม่ด้อยกว่าชาติอื่น

13 ตุลาคม 2553

Next post > “จุรินทร์” เผยสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในกทม.ดีขึ้น ผู้ป่วยลดลง จับมือกทม.คุมเข้มต่อเนื่องอีก 5 เดือน

< Previous post การประชุมเพื่อรายงานผลการประเมินการความสำคัญของหัวข้อปัญหาและเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่จะเข้าสู่การประเมินฯ

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด