logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

รมช.สธ. เตือน! อันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์-แบคทีเรียก่อโรคปนเปื้อนในยาสมุนไพร

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=34121


          ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าปัจจุบันความนิยมบริโภคสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเป็นกระแสที่กำลังแพร่หลายอย่างยิ่ง กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เห็นความสำคัญของคุณภาพของสมุนไพรในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการมีประสิทธิภาพของการใช้ยาสมุนไพร  จึงได้จัดทำโครงการคุณภาพสมุนไพรไทยขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา โดยการประสาน ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 14แห่ง ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและช่วยส่งเสริมการใช้สมุนไพรในโครงการคุณภาพสมุนไพรไทยและจากผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสมุนไพรทางห้องปฏิบัติการ ทั้งที่เป็นวัตถุดิบสมุนไพร ผงสมุนไพร ยาแคปซูลสมุนไพร และชาชงสมุนไพร ระหว่างปี พ.ศ.2545–2552 จำนวนทั้งสิ้น 2,340 ตัวอย่าง ตรวจพบสมุนไพรที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์เกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนด จำนวน 1,120 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 47.86 ทั้งนี้ตัวอย่างสมุนไพรที่ตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์เกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนดนั้น บางส่วนยังตรวจพบเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดโรค ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม(Clostridium spp) และคลอสตริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridium perfringens) เป็นต้น

           รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่ออีกว่า ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ที่จำหน่ายตามท้องตลาดส่วนใหญ่ มีทั้งผลิตภัณฑ์ระดับอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์  ที่ได้จากกรรมวิถีแบบชาวบ้าน ทั้งนี้การผลิตในระดับชุมชนหรือกรรมวิถีแบบชาวบ้าน ซึ่งที่พบบ่อย คือ ชาวบ้านใช้วิธีการนำสมุนไพรต่างๆ  เช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทลายโจร ไปผึ่งแดด โดยไม่มีโรงเรือนห่อหุ้มมิดชิดและยิ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่นหรือในระหว่างการผลิตแล้วใช้น้ำที่ไม่สะอาดพอในการล้างสมุนไพรทำให้มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนและการแพร่กระจายของเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจก่อให้เกิดโรคได้ง่าย

            นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียมเป็นเชื้อที่อันตรายมาก เมื่อเชื้อคลอสตริเดียมเข้าไปอยู่ ในร่างกายของมนุษย์และมีปริมาณเชื้อแบคทีเรียมากเกินไป เชื่อเหล่านี้จะมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในกระแสเลือดและเป็นอันตรายต่อร่างกายจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในเบื้องต้นอยากเตือนชาวบ้านที่ต้องการสกัดยาสมุนไพรให้ระมัดระวังเชื้อดังกล่าว ด้วยการพยายามผึ่งสมุนไพรในแดดอ่อนๆ โดยมีโรงเรือนห่อหุ้มมิดชิด ใช้น้ำสะอาด เช่น น้ำประปาแทนน้ำฝนมาล้างสมุนไพรและพยายามบรรจุหีบห่อในภาชนะที่มิดชิดและปลอดภัยอย่างไรก็ตามขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยเครือข่าย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 14แห่ง ร่วมกับหน่วยงานในส่วนกลาง ได้แก่สำนักยาและวัตถุเสพติด และสถาบันวิจัยสมุนไพร ได้ดำเนินการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี เรื่องการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรไทยให้กับชุมชน แหล่งผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีคุณภาพและความปลอดภัยมากขึ้น

13 ตุลาคม 2553

Next post > “จุรินทร์” เผยสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในกทม.ดีขึ้น ผู้ป่วยลดลง จับมือกทม.คุมเข้มต่อเนื่องอีก 5 เดือน

< Previous post การประชุมเพื่อรายงานผลการประเมินการความสำคัญของหัวข้อปัญหาและเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่จะเข้าสู่การประเมินฯ

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด