logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

ม. มหิดลพบอาหารปนเปื้อนสารพิษ 8 จังหวัด

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=359&contentID=96553

วันนี้ (6 ต.ค.) ผศ.ดร.พรรัตน์ สินชัยพานิช นักวิจัยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  จากการสำรวจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่เดือน ก.ย.2552-2553 พบมีอาหารปนเปื้อนเกินมาตรฐานความปลอดภัยใน 8 จังหวัด โดยในกลุ่มตัวอย่างอาหารทั่วไป เช่น นมโรงเรียนชนิดพาสเจอร์ไรซ์มีปริมาณแบคทีเรียรวมเกินมาตรฐาน 25% นมยูเอ็ชทีเกิน 5% ไส้กรอก ทั้งหมู ไก่และกุนเชียงมีสารกันบูดกว่า 36% ในลูกชิ้นหมู ไก่และปลา พบมีการใช้สารกันบูด 100% และมีการใช้ดินประสิวในระดับไม่ปลอดภัยถึง 26%
ผศ.ดร.พรรัตน์ กล่าวต่อว่า ประเภทผักผลไม้ 58% พบการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง โดยในสาลี่ ลูกพลับสด ส้ม องุ่นและถั่วฝักยาว พบมากถึง 78% แอปเปิล บร็อคเคอรี่ ดอกกะหล่ำ กะกล่ำปลีและแตงโมเกินมาตรฐาน 25-50% เห็ดหูหนูขาว พบสารเคมีกำจัดแมลงเกินมาตรฐาน 9%และสารฟอกขาว 56% สาหร่ายแกงจืด 36% ขณะที่กุ้งแห้งพบการปนเปื้อนเคมีกำจัดศัตรูพืช 64%และปลาหมึกแห้งพบการปนเปื้อนเคมีกำจัดศัตรูพืช 62% ที่น่าตกใจพริกขี้หนูป่นพบสูงถึง 100% ส่วนอาหารที่ประชาชนนิยมบริโภค เช่น ก๋วยเตี๋ยว พบสารกันบูดในเส้นใหญ่ถึง 88% เส้นเล็ก 75% เส้นหมี่ขาว 40% บะหมี่ 50% อาหารกินเล่นอย่างสาหร่ายอบกรอบปรุงรส พบราพิษอะฟลาท็อกซิน 8%
ด้าน รศ.ดร.นวลศรี รักอริยะธรรม ผอ.ศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ส่วนอาหารที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าอาหารทะเลสดปนเปื้อนสารฟอร์มาลีน 67% โลหะหนักและสารหนู 4% ขณะที่ผัก ผลไม้ ปนเปื้อนสารเคมีกำจัดแมลง 36% สารฟอกขาวในผักแห้ง 47% สารตะกั่วในสาหร่ายและเยื่อไผ่ 8% ทั้งยังพบปรอทในก้านเห็ดหอม หน่อไม้แห้ง เห็ดหอมและเยื่อไผ่ 17% ที่สำคัญในขนม อาทิ ลูกอมและเยลลี่ พบสีสังเคราะห์เกินมาตรฐานถึง 20%

“ผลกระทบของสารปนเปื้อนในอาหารเหล่านี้ หากสะสมในร่างกาย เช่น สารฟอกขาว จะทำให้หายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ สารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลงจะทำให้ร่างกายอ่อนแอขาดความต้านทานโรค หากได้รับเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมากจะเกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ หายใจติดขัด ช็อกและเสียชีวิตได้ ที่น่ากังวลคือเราไม่รู้ว่าอาหารที่เรากินในแต่ละวันนั้นมาจากไหน มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้บริโภคเป็นผู้แบกรับโดยตรง เหมือนเป็นการตายผ่อนส่ง ทั้งการควบคุมความปลอดภัยของอาหารยังมีข้อจำกัด จึงควรเร่งหาทางแก้ไขข้อกฎหมายด้านความปลอดภัยที่ขาดความชัดเจนในมาตรฐานบางตัวและบทลงโทษที่ไม่รุนแรง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” รศ.ดร. นวลศรี กล่าว.


 

8 ตุลาคม 2553

Next post > “จุรินทร์”พอใจบริการทางด่วนพิเศษผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด ลดการเสียชีวิตผู้ป่วยได้

< Previous post โอ๊ย! เวียนหัว ตาลาย

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด