logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

4 จังหวัดอันตรายเด็กเสี่ยงตายมากที่สุด ในรอบ 10 ปี

http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9530000141191

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนงานความปลอดภัยในเด็ก สสส.เล่าว่า จากการสำรวจอัตราการบาดเจ็บในเด็ก 3 กลุ่มอายุ ได้แก่ อายุ 1-4 ปี 5-9 ปี และ 10-14 ปีในรอบ 10 ปี พบว่า มี 25 จังหวัดที่มีอัตราการตายในเด็กสูงขึ้นต่อเนื่องโดยที่ 4 จังหวัด มีอัตราการตายของเด็กสูงสุด ลักษณะการเสียชีวิตจมน้ำตายมากที่สุด มีฐานะยากจน ผลวิเคราะห์ข้อมูลการตายของเด็กในพื้นที่ กทม.123 ราย พบว่า ในปี 2550-2551 คิดเป็นร้อยละ 62.29 และปี 2552-2553 คิดเป็นร้อยละ 75.80 ลักษณะบ้านพักอาศัยของเด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ ไม่มีบ้านพักอาศัยในที่ดินของตัวเอง อยู่ในเขตชุมชนแออัด สลัมในเมือง และปริมณฑล พบว่า กลุ่มที่อยู่ในเมืองจะแอบปลูกที่พักอาศัยริมคลองสาธารณะ ที่รถไฟ ทำให้กลุ่มเด็กเล็กจะเสียชีวิตจากการจมน้ำจากแหล่งน้ำรอบบ้านพักอาศัย ส่วนเด็กโตจะเสียชีวิตจากการชักชวนกันไปเล่นน้ำ และมักจะมาจากครอบครัวที่หย่าร้างร้อยละ 44 และยังพบว่า แม้จะมีการนำชุดความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในเด็กไปให้ ครอบครัวเหล่านี้ก็ไม่มีศักยภาพปฏิบัติตามได้
      
“การขยายตัวของชุมชนแออัดที่เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วจนเกินไป มีผลต่อการตายของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในชุมชนแออัดเสี่ยงตายสูงสุด หากไม่แก้ปัญหา ชุมชนจะเริ่มมีสภาพ “ความเป็นเมือง” ที่ไร้คุณภาพ ก่อให้เกิด “คนจนเมือง” เหมือนคนกรุงเทพฯสมัยก่อน ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการตายสูงสุด เช่น จมน้ำ ถูกรถชน และอุบัติเหตุอื่นๆ”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิทธิความปลอดภัยของเด็กถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ โดยสหประชาชาติ กำหนดให้เด็กเยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพภายในปี 2559 (A World Fit For Children) โดยมีเป้าหมายว่า ต้องลดอัตราการตายของเด็ก ซึ่งหากประมวลจากการตายของเด็ก 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่า การบรรลุข้อตกลงนี้คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังไม่มีการออกมาตรการที่เหมาะสม เช่น มาตรการออกกฎหมายการสวมหมวกกันน็อกสำหรับเด็ก ที่ควรต้องปรับใช้ให้เหมาะสมกับอายุ เช่น เด็กโตต้องสวมหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานทุกครั้ง แต่ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบยังไม่มีหมวกกันน็อกที่ขนาดเหมาะสม ก็อาจนำไปสู่มาตรการห้ามนั่งจักรยานยนต์
 ด้าน สุกัญญา เวชศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า เกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำของเด็กนั้น จำเป็นต้องมีปัจจัย 3 ประการ คือ 1.มาตรการเฝ้าระวังเตือนภัยในเด็กที่มีประสิทธิภาพ 2.พัฒนาและสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมการวิจัย และสถิติความเสี่ยงที่ชัดเจน และ 3.สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย จึงจะนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาโลกที่ดี และต้องสร้างความเข้าใจชุมชนเป็นอันดับแรก
       
“บางพื้นที่มีการใช้ “วัด” เปิดเป็นศูนย์เด็กเล็ก เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐพึงกำหนดและประกาศเกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นเกณฑ์ความปลอดภัยขั้นต่ำสุดที่รัฐและองค์กรกรท้องถิ่นต้องประกันการเข้าถึงเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเสมอภาคของเด็กทุกคน โดยไม่ยินยอมให้เด็กผู้ใดต้องตกอยู่ในสภาพที่มีความปลอดภัยต่ำกว่าเกณฑ์นี้ และต้องจัดให้มีการรายงานพื้นที่ (จังหวัดและตำบล) ที่มีการละเมิดเกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำสำหรับเด็กอันส่งผลให้เด็กเสียชีวิตจากการบาดเจ็บรุนแรง”
      
ขณะที่ คมสัน จันทร์อ่อน ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุว่า การเกิดเป็นชุมชนแออัด จนกลายเป็นสลัม ทำให้เกิดความเสี่ยงในการตายสูง การให้ความรู้ทั้งแก่ผู้ปกครอง และตัวเด็กในเรื่องมาตรการป้องกันความปลอดภัย และการเพิ่มปริมาณศูนย์เด็กเล็กเพื่อดูแลเด็กก่อนวัยเรียนจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน
      
“ปัจจุบันเครือข่ายสลัมได้ตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อแก้ปัญหาให้คนจนที่เข้ามาอาศัยในเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นวิธีตรวจสอบแหล่งที่อยู่ของผู้ปกครองและเด็กให้ชัดเจน ซึ่งจะสะดวกต่อการจัดสรรพื้นที่พักพิง และศูนย์เด็กเล็กในอนาคต เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุให้กับเด็กได้ หากไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งก็จะเกิดผลกระทบทำให้ไม่สามารถเข้าบริการของฝ่ายรัฐ ทางเครือข่ายสลัมได้เสนอให้รัฐจัดทำโครงการบ้านมั่นคงเพื่อจัดที่อยู่อาศัยเป็นชุมชน มีศูนย์ดูแลเด็กเพื่อไม่ต้องไปเล่นนอกชุมชน เด็กที่เกิดมาก็ไม่กลายเป็นเด็กเร่ร่อนที่กระจายไปตามอัตภาพทำให้เกิดสลัมขึ้นมาเรื่อย ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการ และหากรัฐดำเนินการตามข้อเรียกร้องได้ก็จะมีความปลอดภัยในเด็กดีขึ้น ประเด็นสำคัญ คือ ชุมชนต่างๆ ต้องผนึกกำลังความร่วมมือในการแก้ปัญหาด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเด็กเยาวชนอย่างแท้จริง”

 

8 ตุลาคม 2553

Next post > “จุรินทร์”พอใจบริการทางด่วนพิเศษผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด ลดการเสียชีวิตผู้ป่วยได้

< Previous post โอ๊ย! เวียนหัว ตาลาย

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด