logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

หยุดพฤติกรรม “ทำร้ายเข่า”

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000140019

          รศ.นพ.พัชรพล อุดมเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ กระดูกและข้อภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ภาพเค้าโครงของหัวเข่ามนุษย์ให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ว่า ข้อเข่าประกอบด้วยกระดูก 3 ส่วน คือ กระดูกส่วนล่างของกระดูกต้นขา กระดูกส่วนบนของกระดูกหน้าแข้งและกระดูกสะบ้า บริเวณที่กระดูก 3 ชิ้น ที่สัมผัสกันจะมีกระดูกอ่อนผิวข้อปกคลุมอยู่ ปกติแล้วกระดูกอ่อนผิวข้อจะหนาประมาณด้านละ 3-4 มิลลิเมตร
      
         “โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อนั้นถูกทำลาย ตามปกติกระดูกอ่อนผิวข้อจะมีเรียบลื่น เป็นมัน ทำหน้าที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อเป็นไปอย่างเรียบลื่นไม่สะดุด ช่วยกระจายแรงและลดแรงกดกระแทกที่เกิดขึ้นกับข้อต่อ ซึ่งในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะพบว่ากระดูกผิวข้อจะบางลง มีการแตกและเปื่อยยุ่ย จนในที่สุดจะมีการสูญเสียกระดูกอ่อนผิวข้อไป ระหว่างนี้อาจมีการอักเสบของเยื่อบุข้อทำให้มีน้ำในข้อมากขึ้นจนมีการบวมของข้อเข่าให้สังเกตได้และจะมีกระดูกงอก ตามขอบผิวข้อเดิม ร่วมกับจะมีการโก่งผิดรูปของข้อเข่าในระยะท้ายของโรค” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ให้ข้อมูลต่อไปอีกว่า โดยมากแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ส่วนใหญ่จะมีการเจ็บปวดที่หลากหลาย อาจรู้สึกปวดตื้อๆ เจ็บแปลบๆ เจ็บเสียวตามแนวบริเวณข้อเข่า ซึ่ความเจ็บปวดนี้มีแนวโน้มจะเป็นมากขึ้นตามลักษณะการทำลายผิวข้อนี้มีมากขึ้น
      
           รศ.นพ.พัชรพล ยังแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าวนี้ว่า แม้โรคนี้มักจะเกิดในผู้ป่วยที่มีการเกิดอุบัติเหตุที่บริเวณข้อเข่า หรือมีประวัติป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อ เช่น เกาต์ รูมาตอยด์ หรือมีประวัติการติดเชื้อในข้อเข่า แต่ก็ยังมีพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นพฤติกรรมปกติและไม่อันตราย ทว่าในความเป็นจริงแล้ว พฤติกรรมธรรมดาๆ ก็กลายเป็นการทำร้ายหัวเข่าและเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้โดยไม่รู้ตัว
      
          “หลายคนไม่ทราบเลยว่า ท่านั่งธรรมดาสไตล์คนไทยอย่างการนั่งขัดสมาธินี่ก็เป็นการทำร้ายข้อเข่า การนั่งพับเพียบด้วย และที่ห่วงที่สุดคือคุณผู้หญิงทั้งหลายที่สวมรองเท้าส้นสูง เวลาสวมรองเท้าส้นสูง เข่าจะต้องรับน้ำหนักตัวเต็มที่ ถ้าใส่ประจำก็ทำให้เข่าเสื่อมได้เช่นกัน คือธรรมดาไม่ทำอะไร นั่งเฉยๆ ไม่ถูกท่าก็ทำร้ายหัวเข่าแล้ว แค่นั่งแล้วงอเข่าเกิน 90 องศาก็จะเกิดแรงกดจากกล้ามเนื้อรอบๆ เข่า กระดูกหัวเข่าจะถูกบีบ ก็เป็นสาเหตุทำให้ข้อเสื่อมเร็วเหมือนกัน รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีแรงกระแทกแรงๆ ต่อเข่า โดยเฉพาะในคนที่น้ำหนักมาก ต้องระวังเป็นพิเศษ”
      
           รศ.นพ.พัชรพลแนะนำด้วยว่า อาการปวดเข่ารวมถึงโรคข้อเข่าเสื่อม แม้ไม่ได้เป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมาน และกระทบกับคุณภาพชีวิตโดยตรง อีกทั้งเป็นโรคที่ป้องกันได้ จึงฝากข้อมูลดีๆ ไปยังผู้อ่าน ให้ใส่ใจสุขภาพและป้องกันอาการปวดเข่าและโรคข้อเข่าเสื่อม ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐานดัชนีมวลกาย เพื่อลดภาระการรับน้ำหนักของข้อเข่า หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการทำร้ายข้อเข่าต่างๆ และออกกำลังกายสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อรอบเข่า
      
           “สร้างกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงง่ายๆ ด้วยการนั่งเหยียดขาตึงแนบพื้น พร้อมกับกระดกปลายเท้าเข้าหาตัว สลับกับการจิกเท้าไปข้างหน้า หากทำจะรู้สึกตึงหน้าแข้งและเมื่อย ทำเป็นประจำจะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบเข่าแข็งแรงขึ้น”
      
            แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ทิ้งท้ายด้วยว่า แต่หากวิถีการออกกำลังกายและการดูแลตัวเองให้ห่างจากการปวดเข่าและเข่าเสื่อมได้ผลไม่ทัน ผู้ป่วยพบว่าตัวเองเป็นโรคนี้เสียแล้วก็อย่าเพิ่งตกใจ และขอให้มาพบแพทย์โดยด่วนทันทีที่พบความผิดปกติ เช่นรู้สึกปวดหรือเสียวบริเวณข้อ เพราะยิ่งพบเร็วก็จะยิ่งหาสาเหตุและรักษาได้เร็ว
      
          “ทุกวันนี้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทันสมัยขึ้นมาก แผลเล็กลงเยอะ เจ็บน้อยลง และใช้เวลาพักฟื้นน้อยลงด้วย แต่สิ่งที่คนไข้ต้องทำคือ เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติ ต้องรีบมาหาหมอ จะได้รักษาได้ทันท่วงที” รศ.นพ.พัชรพลกล่าว

 

7 ตุลาคม 2553

Next post > รมช.สธ. ห่วงเด็กติดเกม -อ้วน สายตาเสื่อม ช่วงปิดเทอม แนะพ่อแม่ใช้คาถา 10 ข้อ ดูแลลูก

< Previous post สาธารณสุขน่านเร่งฉีดวัคซีนไข้หวัด2009ให้กลุ่มเสี่ยง!

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด