logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

จุรินทร์ สั่งลุยบริษัทผลิตและนำเข้าอาหารเจ ผสมเนื้อสัตว์ มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท

หลอกลวงผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจ

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=34000

         จุรินทร์ ลั่น! คุ้มครองผู้บริโภคช่วงเทศกาลกินเจ ไม่ให้ถูกหลอกลวง หลัง อย. ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างอาหารเจในท้องตลาด ตรวจพบมีเนื้อสัตว์ปะปน สั่ง อย. และ บก.ปคบ. นำกำลังบุกตรวจสถานที่ผลิตและนำเข้าอาหารเจย่านบางขุนเทียน และสมุทรสาครทันที พบอาหารเจที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องกว่า 37 รายการ และพบอาหารเจชนิดเดียวกับที่ผลวิเคราะห์ปรากฏว่าพบ DNA เนื้อสัตว์ จึงอายัดของกลางรวมมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท พร้อมเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ทันที หากผลมีเนื้อสัตว์เจือปนจะจัดเป็นอาหารที่มีฉลากเพื่อลวง เข้าข่ายเป็นอาหารปลอม เตรียมลงโทษให้เข็ดหลาบกับผู้คิดทำบาปกับผู้แสวงบุญ

         นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ. พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และพล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. ปคบ.) ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งหวังให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยจากการเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยในช่วงเทศกาลกินเจที่กำลังจะมาถึงในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยผู้บริโภค ประกอบกับการได้รับเรื่องร้องเรียนจากชมรมเจแห่งประเทศไทยให้ตรวจสอบอาหารเจ เนื่องจากสงสัยว่ามีการลักลอบผสมเนื้อสัตว์ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ลงพื้นที่เพื่อสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารเจจากท้องตลาดจำนวน 18 รายการ ส่งตรวจวิเคราะห์ พบว่ามี DNA จำเพาะของเนื้อสัตว์ในอาหารเจจำนวน 2 รายการ ได้แก่ กุ้งส้มเล็ก เจ อย.10-3-05445-1-0001 และลูกชิ้นปูอัดเจ อย.10-3-05445-1-0066 โดยทั้ง 2 รายการเป็นของบริษัท อาหารเจหยงฝั้น จำกัด จึงได้ขยายผลตรวจสอบบริษัทดังกล่าว โดย อย. ได้ประสานไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นำกำลังเข้าตรวจค้นบริษัท อาหารเจหยงฝั้น จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 48/31 หมู่ 1 ซอยบางกระดี่ 19 (จุลพงษ์) ถ.บางขุนเทียน แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ผลิตและนำเข้าอาหารเจ โดยมีใบอนุญาตผลิตอาหารเลขที่ 10-1-07252 ได้รับเลขสารบบอาหารจำนวน 12 รายการ และใบอนุญาตนำหรือสั่งอาหาร ฯ เลขที่ 10-3-05445 ได้รับเลขสารบบอาหารจำนวน 110 รายการ จากการตรวจค้นพบอาหารเจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 5 ตู้ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

1. อาหารเจที่เคยมีประวัติตรวจพบ DNA จำเพาะของเนื้อสัตว์ 3 รายการ ดังนี้
– กุ้งส้มเล็ก เจ เลขสารบบ อย. 10-3-05445-1-0001
– ลูกชิ้นปูอัดเจ เลขสารบบ อย. 10-3-05445-1-0066
– ลูกชิ้นเอ็นหมูเห็ดหอมเจ เลขสารบบ อย. 10-3-05445-1-0009

2. อาหารเจที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้องกว่า 20 รายการ
3. พบการผลิตอาหารเจที่ฉลากแสดงเป็นอาหารที่นำเข้า คือ ลูกชิ้นเห็ดหอมเจ เลขสารบบ
อย. 10-3-005445-1-0027 begin_of_the_skype_highlighting              005445-1-0027      end_of_the_skype_highlighting

        ในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ยังได้นำหมายค้นเข้าตรวจสอบสถานที่เก็บอาหารเจของบริษัท อาหารเจ หยงฝั้น จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 66/8 หมู่ 3 ถนนเอกชัย ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ผลตรวจสอบพบอาหารเจแสดงฉลากไม่ถูกต้อง 17 รายการ จำนวน 1,397 กิโลกรัม อาทิ
– ไก่แช่เหล้า
– เอ็นหมูแม็คโคร
– เนื้อห่านรมควัน
– แฮมรมควัน
         เจ้าหน้าที่จึงได้อายัดของกลางทั้งหมดจากทั้ง 2 แหล่ง รวมมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท พร้อมเก็บตัวอย่างอาหารเจดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมแจ้งข้อหา ดังนี้
– ข้อหาผลิตและนำเข้าอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท
– หากผลการตรวจวิเคราะห์พบว่ามี DNA จำเพาะของเนื้อสัตว์ จะเข้าข่ายเป็นอาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้อื่นให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพหรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาทถึง 1 แสนบาท

         นพ. พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ในช่วงเทศกาลกินเจ ผู้บริโภคที่รับประทานอาหารเจ ล้วนแต่ต้องการงดเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งถือเป็นการสร้างบุญอย่างหนึ่ง ดังนั้นการกระทำของผู้ประกอบการรายดังกล่าวถือเป็นการทำบาป และไร้ซึ่งจริยธรรม จึงขอเตือนผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอาหารเจ ขอให้มีจริยธรรมในการประกอบการ สำหรับผู้บริโภค อย. จะพยายามทุกวิถีทางไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวง หากพบเห็นการผลิต การจำหน่าย และการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลอกลวงผู้บริโภคโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ขอให้ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการ โดยแจ้งมายังสายด่วน อย. โทร 1556 หรือ Email :[email protected] หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสามารถมาร้องเรียนได้ด้วยตัวเองที่ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. อาคาร 1 ชั้น 1 ทุกวันเวลาราชการ หรือร้องเรียนที่ บก.ปคบ. ตู้ปณ. 459 ปณศ. สามเสนใน พญาไท กทม. 10400 เพื่อ อย. และ บก.ปคบ. จะได้ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด รวมทั้งลงโทษสถานหนักแก่ผู้กระทำผิดกฎหมายต่อไป



5 ตุลาคม 2553

Next post > “จุรินทร์” ติดตามการผลิตไอโอดีนชนิดเม็ดที่องค์การเภสัชกรรม

< Previous post นักวิจัย HITAP นำเสนอผลงานวิจัยในเวทีสัมมนา UNFPA-WHO Asia and Pacific Regional Consultation

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด