ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
อภ.พร้อมผลิตยาเม็ดไอโอดีนบริจาคเพื่อหญิงตั้งครรภ์
http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=33946
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงข่าวเรื่อง “เพิ่มไอโอดีน เพิ่มไอคิว” โดยมี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม รวมถึงอธิบดีกรมต่างๆ ร่วมในพิธี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคขาดสารไอโอดีนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากการขาดแคลนสารอาหารดังกล่าวส่งผลให้สุขภาพทั้งทางร่างกาย และสติปัญญาความคิดอ่านของประชากรเสื่อมด้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาโดยรวมของประเทศชาติในอนาคตด้วย โดยผลด้านลบที่ชัดเจนก็คือ การที่สติปัญญา และศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กด้อยต่ำลง หากเป็นรุนแรงก็จะส่งผลให้เกิดโรคปัญญาอ่อนตั้งแต่แรกเกิด
จากผลการสำรวจไอคิวของคนไทยโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) เมื่อปี 2552 จากกลุ่มตัวอย่างเด็กอายุ 6-14 ปี จำนวน 6,000 ราย ใน 21 จังหวัด พบไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 91 เกือบตกเกณฑ์ ซึ่งไอคิวเฉลี่ยสากลอยู่ที่ 90-110 ขณะเดียวกันผลการสำรวจพัฒนาการสมวัยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบมีพัฒนาการสมวัยลดลงเรื่อยๆ โดยปี 2542 มีพัฒนาการสมวัย 72% ปี 2547 71% และปี 2550 ลดลงเหลือ 67% ซึ่งองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟสรุปตรงกันว่า เป็นเพราะเด็กไทยขาดไอโอดีน
และจากผลการสำรวจปัสสาวะในกลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์ จำนวน 8 แสนคน ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบภาวะไอโอดีนในปัสสาวะต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ถึงร้อยละ 59 ในปี 2552 ทำให้ทารกที่คลอดออกมามีโอกาสเสี่ยงพิการหรือปัญญาอ่อนสูง
จากสถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนที่เกิดขึ้น สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ทรงมีความห่วงใยพสกนิกร ผู้ประสบปัญหาดังกล่าว จึงโปรดเกล้าฯให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีนโยบายที่จะให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนได้รับ “ยาเม็ดเสริมอาหารสำคัญ” จึงได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมมีการวิจัยและพัฒนายาเม็ดไอโอดีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ขึ้น
ด้านนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ยาเม็ดไอโอดีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่องค์การเภสัชกรรมได้มีการวิจัยและพัฒนานั้น มี 2 สูตรตำรับ ประกอบด้วย ยาเม็ดไอโอดีนเดี่ยว ขนาด 0.15 mg และยาเม็ดผสมไอโอดีน 0.15 mg กรดโฟลิก0.40 mg และธาตุเหล็ก 60.81 mg โดยยาทั้งสองตำรับนี้ได้ดำเนินการทดลองผลิตแล้วในช่วงเดือนกันยายน และจะมีผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูปออกมาภายในต้นเดือนตุลาคม 2553
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า แต่เนื่องจากภาวะการขาดไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์จัดเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน องค์การเภสัชกรรมจึงได้ดำเนินการผลิตยาเม็ดไอโอดีนทั้ง 2 รายการ โดยใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท/ปี ในการผลิตยาดังกล่าว เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับสถานบริการสาธารณสุขที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่รับบริการผ่านระบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายให้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ฟรี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อันจะส่งผลให้เด็กไทยมีพัฒนาการที่สมวัยและมีไอคิวที่พัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต
4 ตุลาคม 2553