logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

“จุรินทร์” ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมความปลอดภัยอาหารฉายรังสี

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=33970

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมความปลอดภัยอาหารที่ผ่านกรรมวิธีฉายรังสี ให้ประชาชนไทยบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ กำหนดให้สถานที่ฉายรังสีอาหารทั้งในประเทศและนำเข้า ต้องได้มาตรฐานจีไอพี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมมาตรฐานของอาหารที่ผ่านกรรมวิธีฉายรังสีฉบับใหม่ ซึ่งได้ปรับปรุงประกาศฉบับเก่าที่ใช้ตั้งแต่ปลายปี 2549 เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค และให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งการฉายรังสีอาหารนั้น จัดเป็นกระบวนการถนอมอาหาร ทั้งประเภทเนื้อสัตว์ ผลไม้ ธัญพืช อาหารประเภทหัว เช่น กระเทียม หัวหอม แครอท เพื่อลดการเน่าเสียและเก็บไว้ได้ยาวนานขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ทั้งผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้าอาหารฉายรังสีจากต่างประเทศต้องปฏิบัติแนวทางเดียวกัน
            นายแพทย์สุพรรณกล่าวว่า ตามประกาศดังกล่าว กำหนดให้อาหารที่จะนำมาฉายรังสี จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตหรือจีเอ็มพี (Good Manufacturing Practices) หรือข้อกำหนดพื้นฐานด้านสุขลักษณะอาหาร ภาชนะที่บรรจุอาหารฉายทั้งก่อนและหลังฉายรังสีต้องอยู่ในสภาพที่ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งสถานที่ฉายรังสีอาหารต้องมีวิธีการผลิต วิธีการฉายรังสี มาตรฐานเครื่องมือเครื่องใช้ และการเก็บรักษาอาหารต้องได้มาตรฐานจีไอพี (Good Irradiation Practice) โดยกำหนดให้ใช้รังสีได้ 3 ชนิดได้แก่ รังสีแกมมา หรือรังสีเอกซ์ หรือรังสีอิเล็กตรอน ทั้งนี้อาหารฉายรังสีจะต้องแสดงข้อความ “ผ่านการฉายรังสีแล้ว” และเครื่องหมายการฉายรังสีบนฉลากอาหาร ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปวงกลมขอบหนาทึบสีเขียว ขอบของครึ่งวงกลมช่วงบนไม่ติดกันแบ่งเป็นสี่ส่วน ภายในครึ่งวงกลมมีวงกลมทึบสีเขียวขนาดเล็ก ภายในครึ่งวงกลมด้านล่างมีรูปวงรีทึบสีเขียว 2 วงแยกกัน
           ทางด้านนางสาวทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ตามวัตถุประสงค์การใช้ฉายรังสี ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและไม่ทำให้คุณค่าอาหารเสียไปไว้ 6 ประเภท ดังนี้ (1) กรณีใช้เพื่อยับยั้งการงอกระหว่างการเก็บรักษา ไม่เกิน 1 กิโลเกรย์ (2) ใช้เพื่อชะลอการสุก ไม่เกิน 2 กิโลเกรย์ (3) ใช้เพื่อควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลง ไม่เกิน 2 กิโลเกรย์ (4) ใช้เพื่อลดปริมาณปรสิต ไม่เกิน 4 กิโลเกรย์ (5) ใช้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ไม่เกิน 7 กิโลเกรย์ และ (6) ใช้เพื่อลดปริมาณจุลินทรีย์ และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ อาหารที่ผ่านการฉายรังสีมาแล้วห้ามนำมาฉายรังสีซ้ำ ยกเว้นอาหารที่มีความชื้นต่ำ เช่น ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง อาหารแห้ง และอาหารอื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดแมลงที่เข้าไปภายหลังจากฉายรังสีมาแล้ว ซึ่งมาตรฐานดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เวียนแจ้งประเทศสมาชิกองค์การค้าโลกทราบอย่างเป็นทางการแล้ว
สำหรับผู้ที่นำเข้าอาหารฉายรังสีจากต่างประเทศ ต้องมีใบรับรองสถานที่ฉายรังสีว่ามีมาตรฐานตามที่ประกาศกำหนดหรือมีมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวกับการฉายรังสีจากประเทศผู้ผลิตประกอบการนำเข้า ทั้งนี้ผู้ที่นำเข้าอาหารฉายรังสีก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ จะผ่อนผันระยะเวลาในการจัดหาใบรับรองไว้ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศบังคับใช้ ส่วนผู้ผลิตหรือนำเข้าอาหารฉายรังสีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร หรืออนุญาตใช้ฉลากอาหาร หรือจดทะเบียนอาหาร หรือแจ้งรายละเอียดไว้ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ จะผ่อนผันให้ใช้ฉลากเดิมต่อไปได้ไม่เกิน 1 ปี

 

4 ตุลาคม 2553

Next post > “จุรินทร์” บุกตรวจโรงงานผลิตและนำเข้าอาหารเจ ย่านบางขุนเทียน

< Previous post เร่งแก้วิกฤตขาดไอโอดีน สธ.มอบ 1.2 ล้านเม็ดให้กลุ่มเสี่ยง สั่งโรงงานปรุงรสเติมด่วน!!

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด