logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

ดันตั้งแล็บวัคซีนทดลองในคน

http://www.thaipost.net/news/011010/28164

          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนงานโครงการสำคัญเพื่อการส่งเสริมการวิจัยและการผลิตวัคซีนของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนใช้เองโดยเฉพาะวัคซีนพื้นฐาน 7 ชนิด ซึ่งมีการกำหนดระยะเวลาเป้าหมายการผลิตชัดเจน รวมไปถึงการขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อนำไปใช้ได้จริง คือ วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ตั้งเป้าหมายระยะเวลา 10 ปี วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน 2 ปี และวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี 4 ปี วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี ซึ่งผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง 5 ปี และวัคซีนป้องกันวัณโรคที่ปัจจุบันมีการผลิตใช้อยู่แล้วโดยสภากาชาดไทย แต่จากนี้จะมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น แผนการผลิตวัคซีนนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.โดยเร็ว โครงการเหล่านี้จะใช้งบประมาณรวมกันทั้งสิ้นกว่า 5,000 ล้านบาท
          “ขณะนี้การใช้วัคซีนในประเทศตกปีละ 3,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเกือบทั้งหมด หรือร้อยละ 80 และผลิตเองร้อยละ 20 เท่านั้น หากสามารถผลิตเองได้จะช่วยประหยัดงบประมาณลงได้” รมว.สาธารณสุขกล่าว
          ขณะที่ ศ.นพ.สุธี ยกส้าน หัวหน้าศูนย์วิจัยพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้การวิจัยวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้งในขั้นหลอดทดลองและสัตว์ทดลองได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยเป็นวัคซีนรวมสามารถป้องกันเชื้อเดงกี่ได้ 4 สายพันธุ์ในเข็มเดียวกัน ถือเป็นเชื้อต้นแบบที่จะนำมาผลิตวัคซีนเพื่อฉีดทดลองในคนต่อไป แต่ขณะนี้เรายังติดปัญหาเนื่องจากไม่มีแล็บมาตรฐาน เพื่อเตรียมเชื้อวัคซีนฉีดในคนได้ ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ร่วมกับ สธ.เพื่อของบประมาณจำนวน 150 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างห้องปฏิบัติการดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง จึงจะได้วัคซีนทดลองที่จะทดสอบในคน
          ศ.นพ.สุธีกล่าวว่า หลังได้วัคซีนที่จะทดลองในคนแล้ว ในการทดลองยังต้องใช้เวลาทดลองอีก 8 ปี แบ่งเป็นการทดลอง 3 ระยะ คือ 1.การฉีดในอาสาสมัคร 50 คน เพื่อดูความปลอดภัย และการสร้างภูมิคุ้มกัน 2.การฉีดทดลองในอาสาสมัครจำนวน 400-500 คน และ 3.การทดลองในอาสาสมัครจำนวนหลายพันคน โดยกระจายไปตามประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชียอาคเนย์ เอเชียใต้ และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากขณะนี้โรคไข้เลือดออกได้แพร่กระจายไปทั่ว รวมถึงแถบยุโรปจากสภาวะโรคร้อนที่เกิดขึ้น ขั้นตอนการวิจัยทั้งหมดนี้เพื่อให้การผลิตวัคซีนเป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ สำหรับงบประมาณในการวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันรวมกว่า 100 ล้านบาท แต่การทดลองจากนี้ต้องใช้งบประมาณอีก 250 ล้านบาท ถือเป็นงบวิจัยที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ.

1 ตุลาคม 2553

Next post > สธ.แม่ฮ่องสอน ควบคุมการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ ใน 2 ศูนย์อพยพ ได้แล้ว ไม่มีรายใหม่เพิ่ม

< Previous post สคร.5 เตือนประชาชน! ระวังโรคติดต่อมากับน้ำท่วม

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด