logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

สธ.เผยปีนี้มีเซ่นสังเวยโรคพิษสุนัขบ้า 13 ราย

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=38&contentID=94703

           วันนี้ 28 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 กันยายนทุกปี เป็นวันที่องค์กรเพื่อการรณรงค์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า (Alliance for Rabies Control) ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) กำหนดให้เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัว มีส่วนร่วมป้องกัน ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า หยุดยั้งไม่ให้ประชาชนเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว ดังคำขวัญว่า “ร่วมมือกำจัดภัย ร่วมใจป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สูญพันธุ์ เล่าขานกันเป็นตำนาน” (Working Together to Make Rabies History) ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าปีละกว่า 55,000 ราย ร้อยละ 95 เกิดขึ้นในประเทศแถบเอเชีย และอาฟริกา ทั้ง ๆ ที่โรคนี้ มีวัคซีนฉีดป้องกันในสัตว์ และวัคซีนฉีดป้องกันการเสียชีวิตในคนหลังถูกสัตว์กัด
   
           ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า ในปี 2553 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายน มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 13 ราย เป็นชาย 10 ราย หญิง 3 ราย อายุระหว่าง 3 ปี-67 ปี โดยอยู่ในกรุงเทพฯ 6 ราย กาญจนบุรี 2 ราย ตาก ชลบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี และสระบุรี จังหวัดละ 1 ราย ทั้งหมดนี้ ถูกสุนัขกัด 12 ราย อีก 1 ราย ถูกแมวกัด ส่วนใหญ่หลังถูกกัดไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน หรือฉีดเพียงเข็มเดียว จากการสอบสวนประวัติก่อนเสียชีวิต พบถูกกัดตั้งแต่ 1 เดือน จนถึง 1 ปี สุนัขที่กัด 9 ราย มีเจ้าของ แต่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน ที่เหลือเป็นสุนัขจรจัด 3 ราย แมวจรจัด 1 ราย โดยปีนี้มีคนไทยถูกสุนัข และแมวกัดทั้งหมด 446,255 ราย และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลจึงรอดตาย โดยตลอดปี 2552 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 23 ราย
   
          ดร.พรรณสิริกล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้ามีวัคซีนป้องกันได้ 2 วิธี คือ ฉีดป้องกันในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ต้องฉีดทุกปี และฉีดป้องกันในคนหลังถูกกัด ไม่ว่าจะมีบาดแผลเล็กใหญ่ หรือแค่รอยถลอก รอยเล็บสัตว์ขีดข่วนก็ตาม จากการประเมินพบคนไทยยังมีความตื่นตัวเรื่องนี้น้อย มีการฉีดวัคซีนป้องกันในสัตว์เลี้ยงต่ำกว่าร้อยละ 80 โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดควรครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 80 จึงสามารถป้องกันการแพร่ระบาดโรคในสัตว์ได้สำเร็จ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือคนเลี้ยงสุนัข แมว ให้พาสัตว์ทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี จะช่วยให้สังคมไทยปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าในที่สุด
   
          ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เด็กอายุ 1-10 ปี เป็นกลุ่มที่ถูกสุนัขกัดมากที่สุด ในช่วงปิดเทอมผู้ปกครองอาจพาลูกหลานไปเที่ยว ขอให้หลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขกัด โดยให้ยึดคาถาปฏิบัติ 5 ย. คือ 1.อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห 2.อย่าเหยียบสุนัข 3.อย่าแยกเมื่อสุนัขกำลังกัดกัน 4.อย่าหยิบชามอาหารสุนัข หรือลูกสุนัข เนื่องจากแม่สุนัขอาจหวง และกัดได้ และ 5.อย่ายุ่งกับสุนัขแปลกหน้า หรือไม่รู้ประวัติ เพื่อความปลอดภัยให้กำชับเด็กหากถูกสุนัขกัด แม้บาดแผลเล็กน้อย หรือเป็นลูกสุนัขก็ตาม ให้รีบบอกผู้ปกครอง หรือครูทันที

          ทั้งนี้ หลังถูกสุนัข หรือแมวกัด หรือข่วน ขอให้รีบล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า ฟอกด้วยสบู่ ล้างหลาย ๆ ครั้ง เพื่อขจัดเชื้อโรคที่มีอยู่ในน้ำลายของสัตว์ออกจากแผลให้มากที่สุด และให้ไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันทันที เพราะผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มักไม่ไปหาแพทย์ เพราะเห็นว่าบาดแผลเล็กน้อย หรือสุนัขที่กัดเป็นลูกสุนัข หรือเป็นสุนัขที่มีเจ้าของ จึงไม่ใส่ใจ
   
          สำหรับโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรง หากปล่อยทิ้งไว้จนมีอาการป่วย จะเสียชีวิตทุกราย ไม่มียารักษา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดเป็นโรคนี้ได้ แต่ในไทยส่วนใหญ่สุนัขจะเป็นตัวนำโรคมาสู่คน เชื้อโรคจะอยู่ในน้ำลายของสุนัขที่เป็นโรค เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะเข้าสู่ร่างกายคนทางบาดแผล หรือถูกเลียที่ปาก จมูก ตา เชื้อจะเข้าทางปลายประสาท และขึ้นสมอง ทำให้สมอง หรือไขสันหลังอักเสบ โดยทั่วไปจะปรากฏอาการหลังได้รับเชื้อตั้งแต่ 7 วัน ถึงหลายปี แต่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 1-6 เดือน สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามีทั้งชนิดเซื่องซึม และอาการดุร้าย ชนิดดุร้ายสังเกตได้ง่าย ๆ คือ สัตว์มีนิสัยเปลี่ยนไปจากปกติ กระวนกระวาย ตื่นเต้น ไล่กัดคน หรือสัตว์อื่นที่ขวางหน้า กลืนอาหาร และน้ำไม่ได้ หางตก น้ำลายไหล ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตหลังมีอาการไม่เกิน 10 วัน หากเห็นสุนัขมีอาการดังกล่าว ต้องรีบช่วยกันกำจัดทันที เพื่อไม่ให้ไปกัดคน หรือสัตว์อื่น.

29 กันยายน 2553

Next post > “จุรินทร์” ดีเดย์ 1 ตุลาคม 2553 รักษาฟรี 48 ล้านคน ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ให้ประชาชนรับบริการสาธารณสุขที่สะดวก รวดเร็ว เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

< Previous post สธ.สั่งเฝ้าระวัง“โรคมือเท้าปาก“ 9 เดือนป่วยกว่าหมื่นราย “น่าน-ตรัง“พบมากสุด

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด