logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

ในหลวง ทรงห่วงใยปัญหา “โรคเรื้อน” เร่งค้นหาผู้ป่วยตกค้าง-รักษาให้หายขาด

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=420&contentID=94584

           “โรคเรื้อน” เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรมาโดยตลอด ทรงก่อตั้งมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์กรให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการแก้ปัญหาโรคเรื้อน ทำให้มีผู้ป่วยลดลงอย่างมากจากในอดีตมีความชุกของโรคเกิดขึ้นในทุกชุมชนหมู่บ้าน ปัจจุบันแม้จะเหลือผู้ป่วยจำนวนน้อยมาก แต่ก็มีบางพื้นที่ยังอยู่ในกลุ่มเสี่ยง  ที่พบผู้ป่วยรายใหม่ในทุก ๆ ปี ดังนั้น หน่วยงานที่ดูแลโรคเรื้อนพยายามเร่งรณรงค์เพื่อค้นหาผู้ป่วย เพื่อเข้าสู่ระบบ การรักษาให้หายขาด โดยเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ ขจัดโรคชนิดนี้ให้หมดไปจากประเทศไทย
   
             เช่นเดียวกับที่วัดบ้านใหญ่ หมู่ 11 ต.ครบุรี อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุข จ.นครราชสีมา ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นคร ราชสีมา (สคร.5) เปิดรณรงค์ งานราชประชาสมาสัย 50 ปีแห่งการสนองพระราชปณิธาน มีการอบรมเชิง ปฏิบัติการการดำเนินงานควบคุมโรคเรื้อนในชุมชนและการตรวจคัดกรองผิวหนังประชาชนกลุ่มเสี่ยงเพื่อค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่ ขณะเดียวกันมีการมอบเครื่องยังชีพแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อน 2 ราย คือ นางอ่อง พร่องครบุรี อายุ 83 ปี และนางผัน ช่วงครบุรี อายุ 77 ปี ชาว ต.ครบุรี อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งป่วยเป็นโรคเรื้อนนาน 20 ปี จนมีอาการพิการที่มือทั้งสองข้าง ปัจจุบันรักษาอาการจนหายขาดแล้ว และได้รับค่าตอบแทนจากมูลนิธิฯเป็นเงินช่วยเหลือคนละ 3,000 บาทต่อเดือน
   
             ศ.นพ.ธีระ รามสูต ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคเรื้อนในประเทศไทยเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คาดว่ามีผู้ป่วยประมาณ 1.7 แสนราย คิดเป็นอัตราความชุก 50 ต่อ 10,000 ประชากร แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยปัญหาโรคเรื้อน ทรงพระราชทานพระราชทฤษฎีเป็นแนวทางในการกำจัดโรคเรื้อน โดยเฉพาะการรักษาผู้ป่วย ต้องรักษาทั้งทางร่ายกายและจิตใจและรักษาให้หายขาด รวมทั้ง พระราชทานมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสนับสนุนงานป้องกันควบคุมโรคเรื้อน เป็นผลทำให้โรคเรื้อนเกือบจะหมดไปจากประเทศไทย โดยในปี 2552 มีอัตราความชุกของโรค 0.11 ต่อประชากรหมื่นราย มีการค้นพบผู้ป่วยรายใหม่เพียง 300 คน ในจำนวนนี้มีความพิการ 41 คน และปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนรักษา 762 คน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุ บันพระองค์ทรงห่วงใยปัญหาโรคเรื้อนมาโดยตลอดและทรงติดตามการดำเนินงานทุก ๆ 3 ปี

             ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย กล่าวอีกว่า ผลสำเร็จของการดำเนินงานควบคุมโรคเรื้อน เกิดจากการมีกิจกรรมเร่งค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในชุมชน ให้การรักษาเร็วขึ้นตั้งแต่เริ่มเป็น โดยมีสูตรยารักษาใหม่เป็นยาผสม 3 ชนิด แทนการใช้ยาแดป โซน ลดระยะเวลารักษาจากเดิม 3-6 ปี เหลือเพียง 6 เดือน-2 ปี ผู้ป่วยกินยารักษาอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องเข้า รพ.หรือนิคมโรคเรื้อน ประชาชนเข้าใจดีขึ้น การรังเกียจน้อยลง  และการดำเนินการปีนี้ได้เร่งค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการของโรคเรื้อน ได้แก่ ผู้มีอาการทางผิวหนังเป็นวงด่างขาวหรือแดง มีอาการชา เป็นปื้น แผ่น ผื่น มีตุ่มนูนแดงหนา ไม่คัน หยิกไม่เจ็บ มีพื้นที่เสี่ยงใน 140 อำเภอของ 45 จังหวัด ที่ยังพบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 5 ปี เพื่อมารับการรักษาโดยเร็วรักษาฟรี และป้องกันความพิการหากปล่อยไว้นาน ทั้งนี้การค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ มูล นิธิฯได้สนับสนุนค่าพาหนะสำหรับผู้ป่วยรายใหม่ที่มารักษาเอง 2,000 บาท หากมีผู้พามารักษาจะได้คนละ 1,000 บาท
   
             ด้าน นพ.สมชาย ตั้งสุภาชัย ผอ. สคร.5 กล่าวว่า พื้น ที่ 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ยังพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่กระจายในทุกจังหวัด ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนรักษา 150 ราย อัตราความชุกของโรค 0.23 รายต่อประชากรหมื่นคน เป็นผู้ป่วยใหม่ 82 ราย เป็นเด็ก 6 ราย และมีอาการพิการ 12 ราย แยกเป็น จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียน 26 ราย ปีนี้พบผู้ป่วยใหม่ 15 ราย เป็นเด็ก 3 ราย และพิการ 1 ราย จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียน 36 ราย ปีนี้พบผู้ป่วยใหม่ 40 ราย เป็นเด็ก 2 ราย และพิการ 4 ราย จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียน 45 ราย ปีนี้พบผู้ป่วยใหม่ 19 ราย ไม่พบผู้ป่วยเด็ก และพิการ 3 ราย และ จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียน 43 ราย ปีนี้พบผู้ป่วยใหม่ 8 ราย เป็นเด็ก 1 ราย และพิการ 4 ราย
   
              ที่ผ่านมาแสดงว่ายังมีการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยใหม่ที่เป็นเด็กถึง 3 ราย และทุกจังหวัดอาจมีผู้ป่วยตกค้างแฝงอยู่ในชุมชนเนื่องจากโรคเรื้อนมีระยะฟักตัวยาวนาน 5-10 ปี แต่การค้นพบผู้ป่วยค่อนข้างล่าช้าจนเกิดอาการพิการ จึงต้องเร่งรณรงค์ค้นหาผู้ป่วยอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง.

28 กันยายน 2553

Next post > ปลัด สธ. นัด 2 ฝ่ายประชุมเสนอรายละเอียด ประเด็น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขให้ชัดเจน ในวันที่ 12 ตุลาคม 2553

< Previous post สธ.เตือนสาววัยใสฮิตแฟชั่น “ขาสั้นโชว์เรียวขา” ระวังตกเป็นเป้า โจมตียุงลาย ยอดผู้ป่วยไข้เลือดออก 9 เดือนปีนี้ ขยับใกล้ 9 หมื่นราย พบอายุ 10-14 ปี ป่วยมากสุด

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด