logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

สธ.สั่งเฝ้าระวัง โรคมือเท้าปาก รอบ 9 เดือนปีนี้พบป่วยกว่าหมื่นราย สูงกว่าปีที่แล้ว เกือบเท่าตัว

Link : http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=33863

        สาธารณสุข สั่งสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากใกล้ชิด เพราะกำลังเข้าสู่ช่วงระบาดโรคช่วงปลายฝนต้นหนาว ในรอบ 9 เดือนปีนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วยกว่า 10,000 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบเท่าตัว มากที่สุดที่น่าน จุดที่ต้องจับตาพิเศษคือเนิร์สเซอรี่ โรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก ย้ำผู้ปกครองสังเกตอาการลูกหลาน หากพบมีไข้ มีตุ่มแผลในปาก หรือที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ขอให้พาไปพบแพทย์ และแยกเด็กไม่ให้อยู่รวมกับเด็กอื่น เพื่อป้องกันการระบาด

         ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของเชื้อไวรัสโรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease:HFMD) โดยกว่าร้อยละ 90 พบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา เนื่องจากเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานโรค และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานควบคุมป้องกันโรคทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า รายงานสถานการณ์โรคมือเท้าปาก ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี2553นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วย 10,684 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิต โดยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2552 เกือบ 1 เท่าตัว จำนวนผู้ป่วยร้อยละ 95 หรือจำนวน 10,013 รายอายุต่ำกว่า 5 ปี จังหวัดที่พบอัตราป่วยมากที่สุดเมื่อเทียบกับประชาชนทุก 1 แสนคน ได้แก่ น่าน ตรัง ป่วยแสนละ 43 รองลงมาคือ เชียงราย และสมุทรปราการ ป่วยแสนละ 41 คน

          การระบาดของโรคนี้ มักจะพบได้ในที่มีเด็กอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เล่นของเล่นด้วยกัน เมื่อมีเด็กป่วย 1 คน เชื้ออาจแพร่ไปสูเด็กอื่นๆที่อยู่ใกล้ชิดหรืออยู่ใกล้เคียง จากการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนออกมาจากน้ำมูก น้ำลาย ตุ่มแผล และอุจจาระของผู้ป่วย จุดที่ต้องระมัดระวัง คือโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก เนิร์สเซอรี่ สระว่ายน้ำ จุดเครื่องเล่นต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องเล่นที่อยู่ในที่ร่มและมีเครื่องปรับอากาศ ตามห้างสรรพสินค้า เช่นบ้านบอล ตู้เกมส์ รถหยอดเหรียญ หากมีเด็กที่ป่วยไปเล่น จะทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ง่าย โดยเชื้อไวรัสนี้จะมีชีวิตอยู่ได้นานในที่มีความชื้นและอากาศเย็น ดังนั้นจึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ดูแลความสะอาดสระน้ำ เครื่องเล่นต่างๆ โดยเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังปิดทำการทุกวัน เพื่อช่วยกันสร้างความปลอดภัยให้เด็กจากโรคนี้ จัดให้มีเจลล้างมือบริการ ให้เด็กล้างมือก่อนและหลังเล่นเครื่องเล่นต่างๆ

          ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า โรคมือเท้าปาก พบได้ทั่วโลก สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในลำไส้ของคนหรือเอนเทอโรไวรัส (enteroviruses) มี 2 ชนิดคือชนิดที่รุนแรงคือเอนเทอรไวรัส 71 (enterovirus 71) ซึ่งพบได้น้อยมากในไทย และชนิดที่ไม่รุนแรง ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดในประเทศได้แก่ ค็อกซากี่ไวรัส (coxsackie virus) มีหลายสายพันธุ์ทั้งกลุ่มเอ และบี เด็กอาจป่วยได้ปีละหลายครั้งก็ได้ เมื่อป่วยแล้วจะหายได้เองประมาณ 5 วัน โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ

          นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า อาการของโรคมือเท้าปาก ส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีไข้สูงในช่วง 2 วันแรก จากนั้นไข้จะลดลงและมีอาการ เจ็บในปาก กลืนน้ำลายไม่ได้ มีตุ่มแผลอยู่ในปาก หรือที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มมักจะไม่คัน แต่เจ็บเวลากด หากอาการเด็กไม่ดีขึ้น เช่นยังมีไข้สูงตลอด เด็กมีอาการซึม อาเจียนบ่อย หายใจหอบ และแขนขาอ่อนแรง ซึ่งเป็นสัญญานอาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่นปอดบวม สมองอักเสบ ให้รีบพาไปพบแพทย์

         ในการดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ขอให้เด็กหยุดพักอยู่ที่บ้านและแยกเด็กไม่ให้อยู่ร่วมกับเด็กอื่นๆ 7-10 วัน จนกว่าจะหายป่วย และขอความร่วมมือผู้ปกครองให้หมั่นล้างมือให้เด็กบ่อยๆ เพื่อกำจัดเชื้อที่ติดมากับมือ และหากสถานรับเลี้ยงเด็ก เนิร์สเซอรี่ โรงเรียนอนุบาล พบว่ามีเด็กป่วย ขอให้รีบแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และให้ประสานแจ้งสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทราบ เพื่อเร่งควบคุมป้องกันโรคไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้างทันที สำนักระบาดวิทยาได้เฝ้าระวังโรคดังกล่าวตั้งแต่พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา

         ตลอดในปี 2552 มีผู้ป่วย 8,806 ราย เสียชีวิต 2 ราย สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโรคมือเท้าปาก ขอให้ผู้ที่ดูแลเด็กล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเตรียมอาหารให้เด็ก และฝึกให้เด็กล้างมือฟอกสบู่ก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังออกจากห้องน้ำทุกครั้ง ซึ่งการล้างมือจะสามารถกำจัดเชื้อโรคต่างๆที่ติดมากับมือได้ถึงร้อยละ 80 ควรใช้ช้อนกลางตักอาหาร และหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำหรือหลอดดูดน้ำร่วมกัน นายแพทย์มานิตกล่าว

27 กันยายน 2553

Next post > รมช.สธ. เผยผลตรวจสอบคุณภาพถุงยางอนามัยมีมาตรฐานกว่าร้อยละ 99

< Previous post สธ. เปิดตัว 3 ตำรับยาสมุนไพรต้านหวัด ได้แก่ ตำรับยาห้าราก จันทน์ลีลา และยาเขียวหอม

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด