logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

องค์กรสุขภาพไทยจับมือองค์การอนามัยโลก”
แก้ไขปัญหาสุขภาพคนไทย 5 ประเด็นใหญ่
เป็นกรณีตัวอย่างของความร่วมมือครั้งแรกในโลก

Link : http://www.egov.go.th/Th/Lists/datActivityNews/DispForm.aspx?ID=130

  รัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรหลักด้านสุขภาพทุกองค์กร จับมือองค์การอนามัยโลก ร่วมแก้ปัญหาสุขภาพคนไทย ใน 5 ประเด็นใหญ่ ซึ่งเป็นความร่วมมือรูปแบบใหม่แห่งแรกในโลก เน้นการบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข หวังใช้เป็นต้นแบบการทำงานร่วมกันแก่นานาประเทศ ใช้เวลาดำเนินงานระยะแรก 4 ปี ระหว่างพ.ศ.2555- 2558

          บ่ายวันนี้ (19 สิงหาคม 2553) ที่โรงแรมพูลแมน กทม. นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.มัวรีน เบอร์มิงแฮม (Dr. Maureen Birmingham)ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แถลงข่าวการประชุมความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและประเทศไทย ในการดำเนินการความร่วมมือระดับประเทศเพื่อการพัฒนาสุขภาพคนไทย พ.ศ.2555-2558

          นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า รัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรหลักด้านสุขภาพทุกแห่ง ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล รวมทั้งองค์กรอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก ดำเนินการแก้ไขและพัฒนาสุขภาพคนไทยอย่างเป็นระบบและเกิดความยั่งยืน ครอบคลุมปัญหาระดับประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือรูปแบบใหม่ โดยปรับจากความร่วมมือที่มุ่งเน้นเฉพาะกับองค์กรในการะทรวงสาธารณสุข และดำเนินการในโครงการย่อยกว่า 200 โครงการ ซึ่งกระจัดกระจาย และไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ได้ เป็นการทำงานที่ระดมทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา และพลังนโยบายจากทุกองค์กรมาทำงานกับองค์การอนามัยโลก โดยเน้นปัญหาที่มีลำดับความสำคัญสูง ไม่กระจัดกระจายและแยกส่วน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ ได้จริง และยั่งยืน โดยรูปแบบนี้จะสามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อขยายผลไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย

          ความร่วมมือครั้งนี้ในระยะแรกจะมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบสุขภาพระดับชุมชนและสาธารณสุขมูลฐาน (Community Health and Primary Health Care) 2.การพัฒนาเครือข่ายการควบคุมปัจจัยเสี่ยงและโรคไม่ติดต่อ (Non Communicable Disease Control Networking) 3.การพัฒนาความสอดคล้องระหว่างนโยบายการค้าระหว่างประเทศและนโยบายสุขภาพ (International Trade and Health) 4.การพัฒนาระบบการเตรียมความพร้อมรับมือพิบัติภัย(Disaster Preparedness and Response) และ5.การพัฒนาระบบสร้างความปลอดภัยทางถนน (Road Safety) การดำเนินงานในระยะแรกจะเป็นเวลา 4 ปี ระหว่างพ.ศ. 2555-2558

          ด้านดร.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกชื่นชมความก้าวหน้าในการพัฒนาการสาธารณสุของประเทศไทย และมองเห็นว่าขณะนี้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง (middle income country)  ซึ่งมีศักยภาพทางด้านการสาธารณสุขสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน รูปแบบความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกจะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยมีองค์กรหลักด้านสุขภาพใหม่ๆ ที่จะหนุนเสริมงานด้านสาธารณสุขของรัฐ และมีทรัพยากรด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างมาก ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกจึงไม่ควรมุ่งเน้นเฉพาะเงินงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งคิดเป็นเพียงไม่ถึงร้อยละ 0.2 ของงบประมาณด้านสุขภาพของไทย และเน้นเฉพาะความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ควรเน้นการใช้ทุนทางปัญญาและทุนทางสังคม ซึ่งองค์การอนามัยโลกมีอยู่อย่างมากมาย มาร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรด้านสุขภาพที่นำโดยกระทรวงสาธารณสุข มาช่วยแก้ปัญหาสุขภาพคนไทย
ดร.มัวรีนกล่าวต่อว่า การริเริ่มของรัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมุ่งเน้นการร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก ในปัญหาที่มีความสำคัญสูงเพียง 5 เรื่อง และการมีส่วนร่วมจากทุกองค์กรหลักด้านสาธารณสุขและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นับว่าสอดคล้องกับนโยบายขององค์การอนามัยโลกอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการพัฒนาการสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกจึงได้ปรับกลยุทธ์ความร่วมมือระหว่างประเทศ (Country Cooperation Strategy or CCS) ทุกๆ 4-6 ปี ซึ่งฉบับใหม่นี้จะครอบคลุมช่วงเวลาปี 2555-2558

            การประชุมผู้บริหารงานระดับสูง ของกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรหลักด้านสาธารณสุขของประเทศไทยครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะให้เกิดการรับรองแผนการทำงานร่วมกันดังกล่าวข้างต้น และเกิดผลในทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ องค์การอนามัยโลกพร้อมที่จะนำแบบอย่างความสำเร็จของประเทศไทยไปเป็นบทเรียนแก่ประเทศอื่นๆ ต่อไป

21 กันยายน 2553

Next post > จุรินทร์ ให้ 4 กระทรวง บูรณาการแผนแก้ไขปัญหามาบตาพุด จ.ระยอง และสั่งทุกหน่วยรายงานการครอบครองสารเคมี

< Previous post หวัด 2009เป็นซ้ำได้ แนะเด็กต่ำ9ขวบ ฉีดวัคซีน“เข็ม2“

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด