logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

Link : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000131661

เด็กฟังเพลงคลาสสิกส่อแววฉลาด

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ผลวิจัยชี้เด็กต่ำกว่า 6 ขวบฟังเพลงคลาสสิก ส่อแววฉลาดกว่าเด็กทั่วไป ขณะที่เด็กฟังแง่ลบส่งผลพฤติกรรมเลียนแบบ เรียกร้องรัฐบาลคืนพื้นที่ดีเพื่อเด็กและครอบครัว ผ่านรายการวิทยุของรัฐ 3 ชม./วัน

วันนี้ (19 ก.ย.) ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมวิทยุเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “ขบวนการคนตัวเล็กกับก้าวต่อไปของวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว” โดยที นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมทั้งกล่าวว่า นโยบายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ประกาศวาระเด็กแห่งชาติปี พ.ศ.2552 โดย “สนับสนุนพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น และผลักดันให้เกิดกองทุนสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว และเป็นผลที่ทำให้เกิดสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ คลื่น FM 105 เพื่อผลิตรายการวิทยุส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัวมากขึ้น เป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย และก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว จนเกิดเครือข่ายสมาชิก “ขบวนการคนตัวเล็ก” เพื่อต่อยอดทำความดีให้สังคม “รายการวิทยุเด็กควรแทรกอยู่ในรายการวิทยุทั่วไป ไม่ควรจำกัดเพียงรายการเฉพาะเด็กเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็ต้องผลักดันให้เด็กเป็นตัวขับเคลื่อน ให้มีโอกาสร่วมทำงานในสื่อวิทยุด้วย เพราะผมเห็นด้วย กับการใช้สื่อวิทยุในการสร้างจินตนาการให้เด็กว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็กเยาวชนอย่างแท้จริง แต่ยอมรับการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในวิทยุโทรทัศน์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคนสนใจอยากจะผลิตสื่อดีๆ ให้เด็กเยาวชน แต่เนื่องจากสร้างรายได้ยาก ฉะนั้นการที่สสส. ช่วยกระตุ้นให้เกิดรายการสถานีวิทยุมีรายการครอบครัวเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีต่อเด็กและเยาวชนไทยทั้งประเทศ หวังว่าคลื่นวิทยุที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้นต่อไป” รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าว

พญ.ชนิกา ตู้จินดา ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.กล่าวว่า เนื่องจากสื่อมีอิทธิพลสำคัญต่อเด็ก เยาวชน และคนในสังคม ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการนำเสนอเพลงที่มีเนื้อหารุนแรง อยากฆ่าตัวตาย ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบของเยาวชนมาแล้ว ขณะที่สื่อที่มีเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน ในรายการโทรทัศน์ กลับมีเพียง 5% และรายการวิทยุ มีเพียง 1% เท่านั้น ทั้งที่เด็กและเยาวชน มีมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ

“กาย ใจ อารมณ์ สังคม ปัญญา เป็น 5 ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเด็ก ซึ่งสื่อวิทยุสามารถตอบสนองพัฒนาการทั้ง 5 อย่างได้เต็มที่ เพราะการฟังต้องคิด และสร้างจินตนาการตามทำให้เด็กเกิดพัฒนาได้เร็ว การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ผ่านสื่อ ให้กับเด็ก เยาวชน และครอบครัว จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง เพราะเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กที่ฟังดนตรีตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 6 ปี จะฉลาดกว่าเด็กทั่วไป เพราะดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาเชาว์ปัญญาในเด็กเล็ก โดยเฉพาะการฟังดนตรีคลาสสิกหรือดนตรีที่มีจังหวะช้าๆ ฟังสบาย แต่ถ้าเด็กฟังรายการหรือดนตรีที่ไม่สร้างสรรค์โดยเฉพาะเด็กเล็ก เมื่อโตขึ้นจะสายเกินไปในการรับรู้เรื่องของความดีกับสิ่งที่ไม่ดีของดนตรี ซึ่งรายการวิทยุเพื่อเด็กและครอบครัวถือเป็นช่องทางหนึ่งในการนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลายของเด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง” พญ.ชนิกา กล่าว

ด้าน นางสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ผู้ดำเนินรายการพ่อแม่มือใหม่หัวใจเกินร้อย FM 105 MHz กล่าวว่า จากผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวกรุงเทพฯ และปริมลฑล ที่มีต่อสถานีวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว FM 105 MHz ในกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 6-60 ปีขึ้นไป จำนวน 535 คน ระหว่างวันที่ 14-15 ส.ค. 2553 พบว่า สื่อวิทยุยังคงได้รับความนิยม โดยกลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 61% ยังคงรับฟังรายการวิทยุ ซึ่งกลุ่มคนที่ฟังรายการวิทยุมากที่สุดคือ กลุ่มวัยครอบครัว (40-49 ปี) คิดเป็น 82% ตามด้วยกลุ่มวัยทำงาน (20-29 ปี) คิดเป็น 70% ส่วนกลุ่มเยาวชน (13-20 ปี) ฟังรายการวิทยุ 56% และกลุ่มเด็ก (6-12 ปี) ฟังรายการวิทยุ 44%

 นางสรวงมณฑ์ กล่าวต่อว่า ในบรรดาผู้ที่เปิดรับฟังรายการวิทยุทั้งหมด พบว่า มีผู้ที่เคยฟังรายการของสถานีวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว FM 105 MHz อยู่มากกว่า 1 ใน 3 หรือ 38% กลุ่มที่ให้ความสนใจ คือกลุ่มคนวัยทำวัยทำงานที่มีครอบครัวแล้ว และผู้สูงอายุ โดยกลุ่มรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ รายการสถานีครอบครัว รายการรอบวันทันข่าว รายการอารมณ์ดียามเช้า รายการสวัสดีประเทศไทย และรายการครอบครัวคุยกัน เนื้อหาที่อยากให้นำเสนอมากที่สุดคือ ความรู้รอบตัว รองลงลงมาคือ การส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม และการพัฒนาทักษะทางอารมณ์ ส่วนความคาดหวังของกลุ่มผู้ฟังคือ ได้รับความรู้ใหม่ๆ ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมทั้งการได้รับความบันเทิงและผ่อนคลายความเครียด ตามลำดับ

นางสรวงมณฑ์กล่าวด้วยว่า จากการดำเนินการผลิตรายการวิทยุเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ผ่านคลื่นวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว F.M.105 พบว่า มีเด็กและครอบครัวจำนวนมากได้เกิดการเรียนรู้ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ดังนั้น เพื่อให้เด็กและครอบครัวทั่วประเทศได้มีพื้นที่เรียนรู้ผ่านสื่อวิทยุ และเกิดพัฒนาการที่ดี จึงขอให้รัฐบาลคืนพื้นที่ดีในการสร้างการเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัว ผ่านรายการวิทยุในสถานีวิทยุของรัฐทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่น้อยกว่าวันละ 3 ชั่วโมง รวมถึงการจัดอบรมพัฒนาผู้จัดรายการวิทยุทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีความต้องการทำรายการสร้างการเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัวในจังหวัดต่างๆ โดยประกาศเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

20 กันยายน 2553

Next post > ลุ้นโผรายชื่อซี 10 สธ.เข้า ครม.

< Previous post ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ระบาดระลอก3

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด