logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

“กล้ามเนื้ออ่อนแรง” ภูมิคุ้มกันผิดปกติ รู้ไวรักษาหาย ลดอันตราย

Link : http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=486&contentID=92595

เป็นอีกหนึ่งโรคภัยที่น่าสนใจทำความรู้จักสำหรับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ล่าสุดมีข่าวว่า ดาราสาว โอ๋-ภัคจีรา วรรณสุทธิ์ มีอาการป่วยของโรคดังกล่าวและกำลังเตรียมเข้ารับการรักษา
    
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดจากสาเหตุใดและมีลักษณะอาการอย่างไร พันโทแพทย์หญิง ปฏิมา อรวรรณหโณทัย อายุรแพทย์ระบบประสาท โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า ชื่อที่เรียกอย่างเป็นทางการ  ของโรคนี้ คือ โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส (myasthenia gravis) หรือเรียกว่า “โรคเอ็มจี” เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากภูมิคุ้มกัน ผิดปกติที่บริเวณเส้นประสาทกับกล้ามเนื้อที่มีการหลั่งสารสื่อประสาทออกมา ซึ่งโดยปกติ จะมีตัวรับ (receptor) สารสื่อประสาทเพื่อให้กล้ามเนื้อมีการหดตัว แต่ภาวะของโรคนี้จะมีภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติสร้างขึ้นมา ทำให้ตัวรับสารสื่อประสาทไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นผลทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้
    
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนแรงของ กล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ จะเป็นมากขึ้นตามการใช้งาน ถ้ามีการ  ใช้งานมาก ๆ อาการอ่อนแรง  จะชัดเจนมากขึ้น โดยอาการของแต่ละช่วงวันก็จะแตกต่างกัน เช่น ตอนเช้า ตื่นมาใหม่ ๆ สารสื่อประสาทยังมีอยู่มาก รวมทั้ง การใช้งานยังไม่มาก จึงยังไม่แสดงอาการ แต่ในช่วงสาย ๆ หรือช่วงบ่าย เมื่อมีการใช้งานของกล้ามเนื้อหรือมีการออกแรง สารสื่อประสาทก็จะลดน้อยลง และตัวรับสารสื่อประสาททำหน้าที่ไม่ได้ตาม ปกติจึงมีอาการเปลี้ย ล้า อ่อนแรงของกล้ามเนื้อเกิดขึ้น แต่หลังจากมีการพักการใช้งาน กล้ามเนื้อก็จะมีแรงขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง
    
“อาการผิดปกติจะเกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อลายทั่วร่างกาย ที่พบได้บ่อย เช่น บริเวณใบหน้า ทำให้มีอาการหนังตาตก มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลูกตาผิดปกติร่วมด้วย ทำให้กล้ามเนื้อของตาทั้ง 2 ข้าง ทำงานไม่ประสานกันส่งผลให้เห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว รวมทั้งกล้ามเนื้อการพูด ซึ่งจะมีผลทำให้รู้สึกว่าพูดไม่ชัด กลืนอาหารและน้ำไม่สะดวก มีอาการสำลักได้
   
ตลอดจน กล้ามเนื้อต้นแขนและต้นขาด้วย ในส่วนของ ต้นแขนมักจะมีอาการ เช่น ต้นขาไม่มีแรง เดินก้าวขึ้นบันไดลำบาก นั่งยอง ๆ แล้วยืนขึ้นลำบาก ส่วนต้นแขนจะมีอาการ อ่อนแรงเวลายกแขนหวีผมหรือเอื้อมหยิบของที่สูง ถ้าเป็นมากอาจมีผลต่อกล้ามเนื้อที่ช่วย  ในการหายใจทำให้หายใจลำบาก เหนื่อย”
   
ทั้งนี้อาการดังกล่าวจะเป็น ๆ หาย ๆ บางช่วงดีขึ้น บางช่วงมีอ่อนแรง ไม่ได้เป็นตลอดทั้งวัน ยกเว้นว่าเป็นมานานแล้ว อาการก็จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ โดยส่วนใหญ่การดำเนินการของโรคจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีน้อยมากเพียงแค่ 1-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะมีอาการรุนแรงแบบเฉียบพลัน เช่น กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรงจนกระทั่ง เกิดภาวะการหายใจล้มเหลวต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
   
อุบัติการณ์ของโรคนี้ โดยเฉลี่ยประชากร 100,000 คน พบได้ 15-20 คน ส่วนใหญ่จะพบในเพศหญิงช่วงอายุ 20-40 ปี ในช่วงวัยรุ่นถึง   วัยกลางคนจะพบมาก ส่วนในเพศชาย จะพบในช่วงอายุที่มากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่จะ พบในเพศหญิงมากกว่า 2 ถึง 3 เท่า
   
กลุ่มคนที่ทั้งเพศหญิงและชายที่อยู่ในช่วงอายุดังกล่าวจึงควรระวังการเกิดภาวะของโรค รวมทั้ง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคเอส แอล อี โรครูมาตอยด์ หรือ   มีภาวะโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติหรือที่เรียกว่า โรคแพ้ภูมิคุ้มกัน   ตัวเอง
   
การวินิจฉัยโรคจึงมีความสำคัญโดยอาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกายและการสืบค้นทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม   ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคได้ คือ การตรวจโดยใช้ยาฉีด ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท เรียกว่า Tensilon test
   
หลังจากที่ฉีดยาให้กับคนไข้แล้ว จะทำให้อาการที่คนไข้เป็นอยู่กลับสู่สภาพปกติ ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่าคนไข้เป็นโรคนี้หรือไม่ หากไม่มียาที่ใช้ฉีดเพื่อดูอาการ ก็สามารถใช้น้ำแข็งหรือ คูลแพ็ค ประคบแทนได้ อย่างในรายคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องหนังตาตก ให้ใช้น้ำแข็งประคบ 10-15 นาที จากนั้น คนไข้จะสามารถลืมตาได้ตามปกติ มีอาการดีขึ้น เนื่องจากความเย็นจะทำให้สารสื่อประสาท สะสมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อทำงานได้ตามปกติชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ความแม่นยำในการวินิจฉัยสำหรับวิธีนี้จะน้อยกว่าวิธีแรก
   
อีกวิธีหนึ่ง คือ การตรวจโดยใช้กระแสไฟฟ้า กระตุ้นกล้ามเนื้อ หรือที่เรียกว่าการตรวจ อี เอ็ม จี (electrom- yography: EMG) เป็นการ ใช้กระแสไฟฟ้าขนาดน้อย ๆ กระตุ้นกล้ามเนื้อโดย กระตุ้นซ้ำ ๆ โดยผลจะแสดงออกมาเป็นกราฟ ถ้ากรณีที่เป็นโรคนี้ เมื่อมีการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าซ้ำหลาย ๆ ครั้ง กราฟการทำงาน ของกล้ามเนื้อจะมีขนาดลดลงอย่างชัดเจน หากเป็นคนปกติ เมื่อมีการกระตุ้นกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ กราฟการทำงานของกล้ามเนื้อ จะมีขนาดเท่าเดิม
   
การรักษา ทำได้โดยให้ยาที่จะไปช่วยในเรื่องของสารสื่อประสาทให้มีมากขึ้น รวมทั้ง ยับยั้งภูมิคุ้มกันที่มีความผิดปกติให้ลดน้อยลง ตลอดจนการประคับ ประคองให้ภาวะโรคดำเนินอยู่ได้โดยมีการกำเริบน้อยที่สุดและใช้ยาน้อยที่สุด และต้องตรวจหาโรคทางอายุรกรรมที่อาจจะพบร่วมกันได้ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เนื้องอกของต่อมไธมัส หรือ โรค เอส แอล อี รวมทั้ง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
   
การรักษาโรคนี้มีโอกาสหายขาดได้โดยการตัดต่อม  ไธมัส กรณีตรวจพบจากการเอกซเรย์ว่ามีต่อมไธมัส โดยปกติต่อมไธมัสจะฝ่อและหายไป คนปกติจะไม่มีต่อมไธมัส  หลงเหลืออยู่แล้ว แต่ในบางรายที่มีความผิดปกติ เช่น ในภาวะโรคนี้จะพบว่า ต่อมไธมัสยังมีอยู่หรือมีเนื้องอก โดยต่อมจะมีการขยายตัวขึ้น ทำให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติออกมาจากตัวต่อมไธมัส ซึ่งถ้าตัดต่อมไธมัสออกจะทำให้ภาวะของโรคดีขึ้น
   
แม้จะเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็ควรหมั่นสังเกตอาการ ถ้ามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงผิดปกติ เช่น หนังตาตก มองเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด กลืนลำบาก หรือว่ามีกล้ามเนื้อต้นแขน ต้นขาที่อ่อนแรง โดยที่อาการเป็น ๆ หาย ๆ ในช่วงระหว่างวัน และเป็นมากขึ้นในช่วงสาย ๆ ซึ่งเป็นอาการเตือนให้สังเกต ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา ลดการดำเนินโรคไปสู่ภาวะที่รุนแรงได้.

———-

สรรหามาบอก

– คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพอนามัยสู่ประชาชน เรื่อง “พบแพทย์พยาบาลรามา ไขปัญหาโรคหัวใจในยุคปัจจุบัน” ในวันศุกร์ที่ 24 กันยายน 2553 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุม 7 ชั้น 7 อาคารปฏิบัติการรวม โรงพยาบาลรามาธิบดี สอบถามข้อมูลหรือสมัครเข้าฟังการบรรยายได้ที่ 0-2201-1091-3 หรือ 0-2201-2521 (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
   
– ชมรมแพทย์ภิวัฒน์ กำหนดจัดงานสัมมนาประชาชนเรื่อง “มะเร็งลำไส้ที่คนไข้ควรรู้” วันเสาร์ที่ 25 กันยายน 2553 เวลา 08.00-12.00 น. ณ ศูนย์ประชุมชั้น 12 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้สนใจร่วมรับฟังติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. 0-2667-2697
   
– ชมรมคนรู้ทันอัมพาต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ขอเชิญร่วมประกวดคำขวัญหรือสโลแกน   สั้น ๆ เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง ชิงเงินรางวัลที่ 1 มูลค่า 10,000 บาท ผู้สนใจส่งคำขวัญหรือสโลแกน เข้าร่วมประกวดได้ภายใน วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน 2553 สอบถามรายละเอียด โทร. 0-2256-4409
   
– โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับ สปสช.จัดโครงการผ่าตัดหัวใจเฉลิมพระเกียรติ 500 ราย ถวายองค์มหาราชินี 80 พรรษา ถวายเป็นพระราชกุศล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2555 สำหรับผู้ถือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์หัวใจ โทร. 0-2877-1111 ต่อ 1216 หรือ คอลเซ็นเตอร์ 1745
   
-Beauty Magazine Online ร่วมกับ 10 20 30 Program ขอเชิญประชาชนทั่วไปร่วมฟังบรรยาย เรื่อง “โภชนาการและน้ำหนัก” ใน วันพฤหัสบดีที่ 7 ต.ค. 2553 เวลา 13.00-16.30 น. ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชั้นลอยของอาคารผู้โดยสารขาออก ภายในงานยังมีกิจกรรม ชิงรางวัลมากมายให้ร่วมสนุก สนใจรีบสมัครตั้งแต่วันนี้จนถึง 5 ต.ค. 2553 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.doctorskinhouse.com

———–

เคล็ดลับสุขภาพดี : โฟเลต สารอาหารสำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

“โฟเลต” เป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนที่กำลังเตรียมตัวเป็นคุณแม่ โดยเฉพาะช่วงก่อนตั้งครรภ์และช่วงตั้งครรภ์ในสัปดาห์แรก เพราะสารอาหารชนิดนี้จะช่วยในการพัฒนาของเซลล์สังเคราะห์สารพันธุกรรมของลูกน้อยในครรภ์ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ   “ดีเอ็นเอ” นั่นเอง หากคุณแม่คนใดได้รับโฟเลตไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาจมีความเสี่ยงต่อความพิการของลูกน้อยแต่กำเนิด และที่ร้ายแรงไปกว่านั้น อาจทำให้คุณแม่เกิดภาวะแท้งลูกได้
   
สารโฟเลต เป็นสารอาหารที่ พบมากในผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ รวมถึง ถั่วลิสง ส้ม มะนาว มะเขือเทศ รวมทั้งธัญพืชที่ไม่ขัดสี อาทิ ข้าว กล้อง ลูกเดือย ฯลฯ แต่เนื่องจาก โฟเลตเป็นวิตามินที่มีคุณสมบัติละลายได้ในน้ำ เราจึง ควรเพิ่มความระมัดระวังในการประกอบ อาหาร ไม่ว่าจะเป็นการแช่น้ำล้างผัก หรือการต้ม เพราะน้ำและความร้อนอาจทำลายสารอาหารได้
   
ดังนั้นเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากสารโฟเลตในปริมาณสูงสุดและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หากเป็นไปได้ควรรับประทานสด แต่หากจำเป็นต้องผ่านกระบวนการประกอบอาหาร ควรเลือกวิธีการที่ใช้น้ำน้อย ๆ หรือทางที่ดีควรรับประทาน น้ำที่ได้จากการประกอบอาหารนั้นเสียด้วยเลย นอกจากนี้ควรงดเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ด้วย เนื่องจากแอลกอฮอล์จะมีผลทำให้ความสามารถในการดูดซึมโฟเลตของร่างกายลดลง 
       
สำหรับความต้องการโฟเลตในหนึ่งวัน ย่อมแตกต่างไปใน  แต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ และสภาวะของร่างกาย ซึ่งโดยปกติหากเรารับประทานอาหารครบทุกหมู่ ร่างกายจะได้รับสารโฟเลตวันละ 400 ไมโครกรัม ซึ่งถือเป็นปริมาณที่เพียงพอกับคนทุกเพศทุกวัย เว้นแต่หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ให้นมบุตรหรือได้รับยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยาต้านมะเร็ง หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด ร่างกายจะมีความต้องการโฟเลตมากกว่าปกติ
   
อย่างไรก็ตาม นอกจากสารโฟเลตจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์แล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพของทุกคนโดยตรงด้วย เพราะโฟเลตมีบทบาทในการป้องกันโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน ที่น่าสนใจคือ สามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็งบางชนิดและช่วยปกป้องร่างกายจากความเสียหายที่เกิดจากมะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูกอีกด้วย
   
เมื่อทราบเช่นนี้แล้วอย่ารอช้า คุณแม่ตั้งครรภ์หรือก่อนตั้งครรภ์ควรเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการต้อนรับสมาชิกใหม่ให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีสารโฟเลตให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนะคะ.
   
ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ทีมวาไรตี้


20 กันยายน 2553

Next post > ลุ้นโผรายชื่อซี 10 สธ.เข้า ครม.

< Previous post ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ระบาดระลอก3

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด