logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

Link : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000129865

สธ.เผยไทยยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อ “ซูเปอร์บัก เอ็นดีเอ็ม-วัน” แบคทีเรียดื้อยาตัวใหม่ มีเพียงเชื้อดื้อยาทั่วไป แต่ไม่รุนแรง ยาปฏิชีวนะยังใช้ได้ผลดี เตือนประชาชนอย่าซื้อยาแก้อักเสบรักษาตัวเอง ป่วยแล้วควรพบแพทย์ และเมื่อกินแล้วต้องกินให้ครบตามแพทย์สั่ง

กรณีที่มีข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสและแบคทีเรียวิทยา จากฝรั่งเศส กล่าวเตือนว่า ซูเปอร์บักหรือแบคทีเรียดื้อยาตัวใหม่ชื่อ “เอ็นดีเอ็ม-วัน” ที่มีต้นตอจากอินเดีย ถือเป็นภัยคุกคามเปรียบได้กับระเบิดเวลา ที่อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน หรือเป็นปีในการที่จะรู้ว่าการแพร่กระจายรวดเร็วเพียงใด เป็นเรื่องเร่งด่วนที่หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกจะต้องติดตามเฝ้าระวัง สถิติจนถึงปัจจุบันพบว่ามีผู้ติดเชื้อกว่า 70 รายในอังกฤษ และกว่า 170 รายในอินเดียกับปากีสถาน ทั้งยังพบในอีกหลายชาติตะวันตกนั้น

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ วันนี้ (15 ก.ย.) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ.2549 ผลการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังไม่พบเชื้อแบคทีเรียซูเปอร์บั๊กชนิดเอ็นดีเอ็ม-วัน (NDM-1) แต่อย่างใด มีเพียงเชื้อแบคทีเรียดื้อยาทั่วไปซึ่งเป็นการพบภายในโรงพยาบาล และไม่ใช่เชื้อตัวที่สร้างสารเอ็นดีเอ็ม-วัน ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ในประเทศยังสามารถใช้อย่างได้ผล โดยให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังการดื้อยา และให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้วางมาตรการเฝ้าระวังปัญหาการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียไว้ 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.ได้จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จำนวน 60 แห่งทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับให้แพทย์ใช้ในการตัดสินใจเลือกใช้ยาที่เหมาะสมในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ซึ่งแต่ละแห่งจะมีห้องปฏิบัติการทดสอบประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะกับเชื้อต่างๆ และส่งข้อมูลและเชื้อตรวจยืนยันในกรณีที่สงสัย ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งจะเป็นเครือข่ายร่วมกับองค์การอนามัยโลกด้วย 2.มีการพัฒนาระบบการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลทุกแห่ง ทุกระดับทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล และแต่ละแห่งได้จัดตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวังการติดเชื้อทุกแผนก 3.มีกระบวนการรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะ หรือที่ชาวบ้านเรียกกว่า “ยาแก้อักเสบ” อย่างถูกต้องและเหมาะสม และ 4.รณรงค์ให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าสู่กระบวนการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อถือสำหรับผู้รับบริการ ทั้งในคนไทยและชาวต่างชาติที่มาใช้บริการด้วย

ดร.พรรณสิริ กล่าวต่ออีกว่า ปัญหาที่น่าห่วงขณะนี้ คือ ความเข้าใจผิดของประชาชนที่นิยมกินยาแรง กินยาไม่ครบตามขนาดที่แพทย์จ่ายให้เพื่อรักษาอาการป่วย พออาการดีขึ้นก็หยุดกินยา และการเอายาไปแบ่งให้ผู้ที่มีอาการคล้ายกันกิน ทำให้เกิดผลเสียและส่งผลต่อปัญหาเชื้อดื้อยาได้ง่าย เนื่องจากยาที่ประชาชนเข้าใจว่ายาแรงนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นยาปฏิชีวนะ และสาเหตุการเจ็บป่วยนั้นไม่ได้เกิดจากเชื้อชนิดเดียวกันทั้งหมด จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการซื้อยาปฏิชีวนะจากร้านขายยาเพื่อรักษาตัวเองในกรณีที่ป่วย เมื่ออาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ และควรกินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง กรณีที่เกิดอาการป่วยภายหลังกลับจากต่างประเทศ ขอให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย

ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า แบคทีเรียซูเปอร์บักชนิดเอ็นดีเอ็ม-วันนี้ พบครั้งแรกมีผู้ป่วยติดเชื้อมาจากประเทศอินเดียไปรักษาตัวที่ยุโรป จากการตรวจสอบย้อน กลับพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้เดินทางมาจากอินเดีย และตามรายงานสารตัวนี้พบในประเทศอินเดีย เนื่องจากเชื้อตัวนี้มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม เป็นเชื้อกลุ่มเดียวกันกับเชื้อที่ทำให้เกิดท้องเสีย ปอดบวม แต่เชื้อได้พัฒนาตัวเองสามารถสร้างสารที่ไปทำลายยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรค ทำให้หายามารักษาได้ยากขึ้น ดังนั้นหากการใช้ยาปฏิชีวนะไม่มีการควบคุมกำกับที่ดี เชื้ออาจดื้อยาได้ สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หากเกิดอาการป่วยขอให้รีบพบแพทย์ ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องแจ้งประวัติการเดินทางแก่แพทย์ทราบด้วย ซึ่งแพทย์จะมีกระบวนการตรวจอย่างละเอียดเพื่อค้นหา และจะส่งเชื้อตรวจในรายที่สงสัยทันที

ทางด้าน นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลกระทบจากปัญหาเชื้อดื้อยา จะทำให้ผู้ป่วยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากขึ้น ต้องนอนในโรงพยาบาลหลายวัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงอายุ อาจเสียชีวิตได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้สถานพยาบาลในสังกัด ให้ความรู้ประชาชนเรื่อง “อย่าซื้อยากินเองโดยไม่จำเป็น” อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการให้สุขศึกษา จัดบอร์ดให้ความรู้ในโรงพยาบาล สถานีอนามัย และทางสื่อต่างๆ ทั้ง เว็บไซต์ วิทยุ ทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งขณะนี้บางประเทศได้เรียกร้องให้มีกฎหมายควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในระยะยาวด้วย

16 กันยายน 2553

Next post > ไทยชู “ประกันสุขภาพตำบล“ ปลอดโรค

< Previous post การะประชุมภายในระหว่าง WHO-SEARO กับ HITAP

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด