logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

Link : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000127874

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

สธ.เผยผลสำรวจสุขภาวะเด็กไทย พบกลุ่มเด็กอายุ 1 – 14 ปี เจอปัญหาเตี้ยกว่าเกณฑ์ แคระแกร็น 5.2 แสนคน ขณะที่อีก 1 ล้านกว่าคน อ้วน ป่วยบ่อย ด้านกลุ่มอายุ 6-14 ปี ร้อยละ 50 ระดับไอคิว เชาว์ปัญญาต่ำ ยังพบเมินออกกำลังกายแต่ชอบดูทีวี -เล่นคอมพิวเตอร์ ส่งผลพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.มีนโยบายเร่งพัฒนาคุณภาพเด็กไทย ให้เด็กไทยมีคุณสมบัติได้ตามนโยบายรัฐบาลคือ “เก่ง ดี มีสุข” และแข็งแรง เริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และส่งเสริมพัฒนาการให้สมวัย ได้มอบหมายให้สถาบันสุขภาพเด็กฯ ร่วมกับราชวิทยาลัยฯ องค์กรที่ทำงานด้านการดูแลเด็ก ทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กไทย รวมทั้งให้นักวิชาการด้านพัฒนาการเด็ก ออกมาชี้นำสังคม กระตุ้นผู้ปกครอง ครู ให้ความสำคัญพัฒนาการเด็ก เนื่องจากเด็กไทยขณะนี้มีสภาพน่าเป็นห่วงหลายๆ เรื่อง อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจสุขภาพอนามัยของเด็กโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2551-2552 โดยสำรวจเด็ก 2 กลุ่ม คือกลุ่มปฐมวัยอายุ 1-5 ปี จำนวน 3,029 คน และกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี จำนวน 5,999 คน จาก 20 จังหวัด พบว่า ครอบครัวไทยขณะนี้มีเด็กเฉลี่ยครอบครัวละ 2 คน ผู้เลี้ยงดูเป็นแม่ร้อยละ 63 รองลงมาเป็นปู่ย่า ตายายร้อยละ 25 และพ่อร้อยละ 7 ผู้เลี้ยงดูร้อยละ 50 จบประถมศึกษา และเด็กอายุ 3-5 ปี ร้อยละ76 อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาล

นพ.ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ยังพบว่าเด็กไทยใช้เวลาในกิจกรรมที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย มากกว่าการวิ่งเล่นตามวัย หรือการออกกำลังกาย โดยในเด็กอายุ 1-5 ปีร้อยละ 40 ดูทีวีมากกว่าวันละ 2 ชั่วโมง เด็กอายุ 10-14 ปีร้อยละ 14 เล่นคอมพิวเตอร์มากกว่าวันละ 1 ชั่วโมง และในกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปีมีเพียงร้อยละ 50 ของที่ใช้เวลาออกกำลังกายวันละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน ขณะที่ด้านสุขภาพอนามัยพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยมากกว่าปีละ 5 ครั้ง เพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 16 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 21 จากโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเช่นไขหวัด และอุจจาระร่วง นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กเผชิญกับปัญหาขาดสารอาหารและกินเกินพอดี โดยเด็กอายุ 1-14 ปี จำนวน 520,000 คนหรือร้อยละ 4.4 ตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์ ในจำนวนนี้มีเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีจำนวน 18,000 คน ที่เตี้ยแคระแกร็นอย่างรุนแรง ซึ่งเสี่ยงต่อการบกพร่องทางสติปัญญา และมีเด็กอายุ 1-14 ปี จำนวน 1 ล้าน 8 หมื่นคนหรือร้อยละ 9 มีปัญหาน้ำหนักเกินถึงขั้นอ้วน ซึ่งจะมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่นๆ สูงกว่าเด็กปกติทั่วไป

นพ.ไพจิตร์กล่าวอีกว่า ผลการสำรวจด้านเชาว์ปัญญา พบว่า ในช่วง 14 ปีมานี้ค่าเฉลี่ยระดับเชาว์ปัญญาหรือไอคิวของเด็กไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นเหมือนประเทศอื่น โดยเด็กไทยอายุ 6-14 ปี มีระดับเชาว์ปัญญาเท่ากับ 91.4 ซึ่งค่าเฉลี่ยระดับไอคิวปัญญาต่ำลงเมื่อเด็กอายุมากขึ้น มีเด็กถึงร้อยละ 50 ที่มีระดับเชาว์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติคือ 80 มีเพียงร้อยละ 11 ที่มีค่าเฉลี่ยระดับเชาว์ปัญญาสูงกว่าปกติ

ด้าน พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า การพัฒนาด้านอารมณ์-สังคมและจริยธรรม พบว่าเด็กทุกกลุ่มอายุมีคะแนนสูงกว่าการสำรวจปี 2544 ยกเว้นกลุ่มเด็กอายุ 6-9 ปี มีคะแนนด้านความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและการควบคุมอารมณ์ต่ำกว่าการสำรวจในปี 2544 นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กไทยเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในช่วง 1 เดือนก่อนสำรวจ พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กอายุ 6-14 ปี เคยชกต่อยกันในโรงเรียน เคยถูกขโมยของหรือทำลายข้าวของในโรงเรียน ทำให้เด็กอายุ 6-9 ปีร้อยละ 4 และเด็กอายุ 10-14 ปีร้อยละ 6 ไม่อยากไปโรงเรียนเนื่องจากรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยต่อตนเอง

พญ.ศิราภรณ์กล่าวอีกว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยมีพัฒนาการ ไอคิว รวมทั้งสุขภาพถดถอยลง เนื่องจากสภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นครอบครัวเดี่ยว หรือมีปู่ย่าตา ยายและหลานๆ อยู่บ้าน ส่วนพ่อแม่ทุ่มเวลาหาเงิน ทำงาน และใช้เงิน ใช้เทคโนโลยีเลี้ยงดูเด็ก เช่นซื้อทีวี ซื้อเครื่องเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ให้ลูกเล่นอยู่บ้าน เพราะคิดว่าดีกว่า ปลอดภัยกว่าที่จะให้ลูกไปเล่นนอกบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการสมบูรณ์แบบของร่างกาย และเด็กอาจเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบเกมส์โดยไม่รู้ตัวว่าอะไรคือเรื่องจริง อะไรคือเรื่องเล่น

“ขอเตือนพ่อ-แม่-ผู้ปกครอง ให้แบ่งเวลาเอาใจใส่เด็กๆ ลูกหลานของท่าน อย่ามุ่งทำงานหาเงินจนลืมลูก อย่าใช้เงินเลี้ยงลูก หรือซื้อสิ่งของชดเชยเวลาที่ไม่มีให้ลูก และอย่าฝากภาระไว้กับครูที่โรงเรียนเพียงอย่างเดียว ขอให้เวลาแก่ลูกมีเวลาใกล้ชิด เป็นที่ปรึกษา ให้เด็กๆ เติบโตในบ้านที่อบอุ่น ในสังคมที่ปลอดภัย ให้เด็กไทยมีพัฒนาการที่พร้อมทั้ง อารมณ์ สังคม สติปัญญา เป็นอนาคตของชาติ” ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าว

13 กันยายน 2553

Next post > HITAP เข้าร่วมการประชุม ISPOR Asia-Pacific ครั้งที่ 4

< Previous post กระทรวงสาธารณสุขจับมือองค์การอนามัยโลกแถลงข่าวจัดการประชุมนานาชาติฯ

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด