logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

บัญชีกลางไม่ห่วงแบกงบฯชดเชย ผอ.จุฬาฯห่วงหมอถูกฟ้องรพ.สมทบเงินอื้อปีละ10ล.

Link : http://www.thaipost.net/news/040810/25729

“กรมบัญชีกลาง” ไม่ห่วงงบจ่ายค่าชดเชยพุ่ง เหตุไม่มีใครอยากตายหรือเสียหายเพื่อรับเงินกองทุน “เลขาฯ สปส.” หนุนชี้เป็นเรื่องดีหากประชาชนได้รับความเสียหายและมีการเยียวยา “ปลัด สธ.” ยอมรับกรณีฟ้อง รพ.เอกชน เรียกค่าเสียหาย 31 ล้าน กระทบขวัญกำลังใจแพทย์ เชื่อ “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ” ลดปัญหาฟ้องร้องได้ “ผอ.รพ.จุฬาฯ” เปิดปากครั้งแรก ห่วงหมอไม่ได้รับการปกป้อง แค่ชื่อร่าง พ.ร.บ.ก็บ่งบอกดูแลแต่คนป่วย เผยหากตั้งกองทุนจริงฯ ต้องสมทบก้อนโตปีละ 10 ล้าน ทั้งที่ 3 ปี รพ.จุฬาฯ ไม่เคยโดนฟ้อง สถาบันวิจัยฯ เผยผลศึกษา ถ้ามี กม. จะลดการฟ้องหมอได้เหมือนมาตรา 41
     นายมนัส แจ่มเวหา ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากพิจารณาตามสมมุติฐานความเสียหายที่เกิดจากการรักษา แพทย์ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้เกิดเหตุอยู่แล้ว ซึ่งเดิมในการเรียกร้องค่าชดเชยจะต้องไปฟ้องศาลอาจใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 ปี ซึ่งหากชนะศาลก็จะสั่งให้คู่กรณีจ่ายชดเชยให้กับผู้ป่วยพร้อมกับดอกเบี้ย แต่ถ้ามีการจัดตั้งกองทุนก็จะช่วยดูแลในเรื่องนี้ได้ ส่วนที่เกรงว่าการจัดตั้งกองทุนเพื่อจ่ายชดเชยให้กับผู้ป่วยอาจกลายเป็นภาระงบประมาณในอนาคต เพราะอาจทำให้มีผู้มาร้องเรียนเพื่อขอเงินชดเชยมากขึ้นนั้น เรื่องนี้เห็นว่าในการจะจ่ายเงินชดเชยได้ต่อเมื่อมีกรณีจำเป็นจริงๆ เท่านั้น คงไม่ได้จ่ายให้กับผู้ที่มาร้องเรียนทุกรายได้ และตนไม่เชื่อว่าจะมีใครอยากตายหรืออยากเกิดความเสียหายจากการรักษาเพื่อขอรับเงินจากกองทุนนี้ ส่วนปัญหาความขัดแย้งในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข อยู่ระหว่างการหาทางออกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
     นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า กรณีที่เกิดความเสียหายจากการรักษาพยาบาล แต่หากเป็นระบบประกันสังคมผู้เสียหายจะใช้วิธีการฟ้องแพ่ง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ หากมองในมุมของประชาชน เมื่อมีความเสียหายจากการรักษาเกิดขึ้น หากได้รับการเยียวยาก็น่าจะดี ส่วนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลดีต่อระบบประกันสังคมอย่างไรนั้น โดยส่วนตัวยังไม่อยากออกความคิดเห็นเพราะไม่ทราบรายละเอียด
     นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีการฟ้อง รพ.เอกชน เรียกค่าเสียหายจำนวน 31.2 ล้านบาท ว่ายอมรับว่าเรื่องนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจแพทย์บ้างและถือเป็นตัวอย่างการฟ้องร้องในจำนวนวงเงินที่สูง ส่วนตัวเชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จะสามารถแก้ไขปัญหาลดการฟ้องร้องได้หากได้รับการแก้ไขและเป็นที่ยอมรับตรงกันของทุกฝ่าย เพราะอำนาจของร่างกฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมไปถึงสถานพยาบาล คลินิกทั้งของรัฐและเอกชนด้วย
     ที่รพ.จุฬาฯ ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯว่า การร่างกฎหมายถ้าผู้รับบริการและผู้ให้บริการได้ประโยชน์ทั้งคู่ก็คือ “วิน-วิน” ดีที่สุด แต่ร่างฉบับนี้ผู้ให้บริการไม่มีส่วนในการร่างทำให้ผู้ให้บริการติดขัด แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ให้บริการจะไม่มองประโยชน์ของประชาชน แต่ขณะเดียวกันผู้ให้บริการก็ต้องป้องกันตัวไม่เช่นนั้นจะพังทั้งระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องคุยกัน
     “ถามว่าทำไม  รพ.ชุมชน ถึงเดือดร้อนกับร่าง พ.ร.บ.นี้ เพราะเขามีคนไข้วันละ 300 คน คนไข้เยอะก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะผิดพลาด แต่ถ้าให้การรักษาแค่ 100 คน เพื่อป้องกันการผิดพลาดแล้ว อีก 200 คนใครจะรักษา เพราะปริมาณแพทย์ของเรายังไม่เพียงพอ แพทย์กลัวการฟ้องร้องกันหมดก็ไม่มีใครรักษา แพทย์ของเราต้องตรวจคนไข้จำนวนมากในขณะที่ค่าตอบแทนต่ำ ส่วนต่างประเทศแพทย์จะรักษาคนไข้ชั่วโมงละ 7 คน และมีรายได้สูง แต่ของบ้านเรายังผลิตแพทย์ได้น้อย” ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์กล่าว
     ศ.นพ.อดิศร กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ชื่อไม่ดีต้องเปลี่ยนชื่อ เพราะมีแค่คำว่าคุ้มครองผู้เสียหายแล้วผู้ให้บริการใครจะคุ้มครอง ส่วนเรื่องฟ้องอาญาไม่ควรฟ้อง เพราะตนไม่เชื่อว่าจะมีแพทย์คนไหนอยากรักษาให้คนไข้ไม่หายหรือตาย รักษาคนไข้หาย 1 คนเราก็ภูมิใจ ถ้ารักษาแล้วเขาตายเราก็นอนไม่หลับ ถ้าผิดพลาดอย่างนี้แล้วฟ้องอาญาก็ไม่ถูกต้อง
     ส่วนเรื่องเงินสมทบเข้ากองทุนตามที่ร่าง พ.ร.บ.กำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่งจ่ายเงินสมทบนั้น ศ.นพ.อดิศร กล่าวว่า ตามสัดส่วนของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รพ.จุฬาต้องจ่ายเงินเข้าสมทบปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่ตนเป็น ผอ.รพ. มาเป็นเวลา 3 ปี รพ.จุฬาไม่เคยถูกฟ้องร้อง แต่ถ้ามีกองทุนนี้เราต้องจ่ายปีละ 10 ล้านบาท ถึงไม่ใช่เงินจำนวนมาก แต่การดำเนินการยังไม่ถูกต้อง ที่ว่าจะลดการฟ้องร้อง 
     นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดจากการวิจัย โดยสถาบันได้ประเมินผลถึงสิ่งที่หวาดกลัวคือการฟ้องร้อง ปรากฏว่าไม่เกิดขึ้นและความจริงการถกเถียงเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่มีมาตรา 41 เมื่อไม่มั่นใจจึงมีการทำวิจัย เมื่อพบข้อดีก็เห็นว่าควรขยายผล แต่ฝ่ายทำงานยอมรับว่าไม่ได้ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจในวงกว้าง แต่ทุกขั้นตอนในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งแพทยสภาก็มีตัวแทนมาประชุมทุกครั้ง แต่แพทย์เป็นองค์กรขนาดใหญ่อาจไม่ได้กลับไปสื่อสารทำให้เกิดปัญหาจากการสื่อสาร.

4 สิงหาคม 2553

Next post > พบเด็ก ป.1 และ ป.6 ได้รับวัคซีนต่ำกว่าเกณฑ์ เหตุ จนท.ละเลย

< Previous post พ่อแม่ผู้ป่วยหวัด 2009 ฟ้อง รพ.ดังเรียกค่าเสียหาย 31 ล้าน! ฐานทำลูกตาย รีบดำเนินคดีก่อนหมดอายุความ

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด