logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

พ.ร.บ.คุ้มครองฯ “การเมืองหมอ-ผลประโยชน์” เดิมพันชีวิต

Link : http://www.thairath.co.th/content/edu/100547

Pic_100547

ส่อแววจบไม่ลง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข “ผู้รักษา-ผู้ถูกรักษา” อ้างเหตุผลคนละมุม ดันกฎหมายคนละด้าน แต่ชี้ตรงกัน “เอื้อประชาชน” แต่เดิมพันกันด้วยชีวิต…

เริ่มกันที่คนกลาง ศ.นพ.ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ถือเป็นปัญหาของประชาชน และแพทย์ ที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะประชาชนเองก็ไม่ได้ต้องการฟ้องร้องดำเนินคดีกับแพทย์ ขณะที่แพทย์เองก็ต้องการที่จะรักษาคนไข้ให้ดีที่สุด แต่ปัญหากลับขึ้นอยู่กับรายละเอียด ที่จะต้องมาปรับเปลี่ยนกัน และหาจุดลงตัวของทั้งสองฝ่าย เพื่อที่จะเห็นชอบในหลักการของ พ.ร.บ.ร่วมกันได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีเจตนารมณ์ที่ดีมาก โดยเน้นดูแลประชาชนผู้เสียหายที่เป็นคนป่วย และแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพ

ศ.นพ.ไพจิตร วราชิต

ศ.นพ.ไพจิตร วราชิต


“เมื่อร่าง พ.ร.บ. ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของทั้งหมด ฝ่่ายหนึ่งยังรู้สึกยังไม่สบายใจ ก็จะต้องมาหารือร่วมกัน ส่วนตนในฐานะกระทรวงสาธารณสุข ต้องการให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและมั่นใจ แต่ขณะเดียวกันกระทรวงก็ต้องดูแลลูกน้องที่เป็นแพทย์ด้วย ไม่ใช่จะให้ทำงานไปร้องไห้ไป ซึ่งถือเป็นความลำบากในการทำงาน ดังนั้นจึงต้องหาทางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้”

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะหาทางออกให้กับเรื่องนี้ เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และมีปัญหาอีกหลายเรื่อง โดยที่แต่ละฝ่ายต่างมีเหตุผลของตนเอง ส่วนกรณีที่จะมีการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่นั้น ตนไม่ทราบได้ แต่ในฐานะที่อยู่ตรงนี้ เห็นว่าผู้เสียหายเขาเดือดร้อนกันจริงๆ เพราะกว่าจะได้เงินก็ใช้เวลานาน ขณะเดียวกันผู้ที่ปฏิบัติงานก็จะต้องได้รับความเป็นธรรมด้วยเช่นกัน

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา


อีกด้านหนึ่ง เสียงจากผู้ที่ทำการรักษาโรค นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ได้แสดงความเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ยกตัวอย่างที่ประเทศสวีเดน ก็ใช้กฎหมายฉบับนี้ แต่ภายหลังที่ประกาศใช้กฎหมาย ก็ส่งผลให้อัตราการฟ้องร้องแพทย์เพิ่มขึ้น แม้ว่าคณะกรรมการของประเทศสวีเดน จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ร่วมพิจารณาตัดสินก็ตาม ทั้งนี้ การใช้กฎหมายของสวีเดนแตกต่างจากของไทยชัดเจน โดยสวีเดนระบุชัดว่า หากผู้เสียหายไม่พอใจการเยียวยา สามารถไปฟ้องศาลได้ แต่ต้องเสียเงินค่าศาล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง ขณะที่ประเทศไทยฟ้องได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะเป็นคดีผู้บริโภค

นอกจากนี้ สวีเดนเป็นประเทศที่เก็บภาษีสูงมาก เงินที่จ่ายเข้ากองทุนจึงมาจากภาษีท้องถิ่นหรือภาษีของรัฐ แต่ประเทศไทย ประชาชนแทบจะไม่ต้องเสียภาษีเลย  จึงต้องนำเงินจากสถานพยาบาลจ่ายเข้ากองทุน ซึ่งแน่นอนว่า สถานพยาบาลก็ต้องไปเรียกเก็บจากคนไข้ เพื่อประกันความเสี่ยง

“สวีเดนทำมา 35 ปี อัตราการฟ้องร้องจากร้อยเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นราย มันไม่มีส่วนช่วยเรื่องการลดการร้องเรียน ทุกคนจะไปศาลเตี้ยแทนศาลจริง เพราะได้เงินเท่ากันแต่เร็วกว่า ขณะที่แพทย์ก็จะหลีกเลี่ยงการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง โดยจะส่งต่อโรงพยาบาลใหญ่  ทำให้แพทย์เดือดร้อน และทำงานหนัก ส่งต่อก็ไม่ได้ ในที่สุดต้องลาออก ที่สำคัญงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลและค่าชดเชยจะเพิ่มมากขึ้น จนรัฐบาลต้องเพิ่มภาษี สรุปคือจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน” นายกแพทยสภา กล่าว

อีกหนึ่งกระบอกเสียง ที่ทำหน้าที่แทนเสียงของประชาชน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อแพทยสภายืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่ดี ดังนั้นควรที่จะให้ผ่านเข้าไปสภาฯก่อน เพราะวาระที่หนึ่ง เป็นเรื่องการพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายอยู่แล้ว จึงอยากเรียกร้องให้พรรคการเมืองทั้งหมด จัดสรรโควต้าให้ทางแพทย์ในการเข้าพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ซึ่ง พ.ร.บ.จะได้เดินหน้าต่อไป เพราะกรณีที่มีการคัดค้าน พ.ร.บ.อยู่นั้น มันเป็นเรื่องของกฎหมาย ที่จะสามารถแก้ไขรายละเอียดได้อยู่แล้ว

“ส่วนการที่นายกฯ จะชะลอกฎหมายซึ่งไม่รู้จริงหรือไม่นั้น อยากให้เดินหน้าต่อ เพื่อจะได้รู้ว่าสาเหตุที่คัดค้านกัน จะสามารถแก้ไขรายละเอียดได้อย่างไร อีกท้ังตนมองว่านายกฯ ควรที่จะออกมารับปากว่า หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านแล้ว จะขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ (ประชาพิจารณ์) เพืื่อให้ทางแพทย์สบายใจ  แต่ถ้านายกฯ พูดว่าจะชะลอกฎหมายจริง จะทำให้ทุกคนไม่สบายใจ ซึ่งก็ไม่เห็นด้วย แต่เชื่อว่านายกฯ น่าจะรู้เรื่องนี้ดี ปัญหาการคัดค้านเกิดจากความเข้าใจผิิด ที่มีการปั่นว่า จะมีการฟ้องร้องต่อแพทย์มากขึ้น ฟ้องคดีอาญามากขึ้น แต่พอมาดูกฎหมายจริงๆ นั้นมันไม่ใช่เลย เช่น มาตรา 45 ทำให้การพิจารณาคดีความอาญาเป็นคุณกับแพทย์ และอีกหลายมาตราที่แพทย์กำลังเป็นห่วงในรายละเอียด แต่เมื่อบอกว่ากฎหมายดี หลักการดี และมีเหตุผล ก็ให้ไปเห็นชอบในหลักการร่วมกันก่อน เพราะกระบวนการยังไม่สิ้นสุด” น.ส.สารี กล่าว


นอกจากนี้ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ดังกล่่าวไม่ใช่มีเพียงแต่ประชาชนที่จะได้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แต่ทุกคนจะได้รับประโยชน์ แต่จะไม่มีใครอยากได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ เพราะผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะต้องตาย พิการ หรือบาดเจ็บเท่านั้น จึงมองว่าการบาดเจ็บหรือพิการ เป็นปัญหาของบริการสาธารณสุข ไม่ใช่ความผิดของแพทย์ เนื่องจากเรามีระบบบริการที่ยังไม่มีคุณภาพ ดังนั้นความเสียหายนี้จึงเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เช่น กรณีตาบอดที่ขอนแก่นนั้น แพทย์รักษาผ่าตัดอย่างหนัก แต่น้ำยาที่แช่เครื่องมือมันติดเชื้อ ถ้าแพทย์ถูกฟ้อง มันก็ไม่เป็นธรรม แต่ถ้าไม่มีกฎหมายฉบับนี้ จะให้คนไข้ทำอย่างไร

ทั้งนี้ เชื่อว่ากฎหมายนี้ จะช่วยการรักษาคนไข้ของแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลรัฐ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็จะสามารถไปลดเบี้ยประกันได้เช่นกัน และแพทย์ก็จะรักษาคนไข้ได้อย่างเต็มที่มีมากขึ้น ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะมีการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่นั้น ก็ไม่อยากคิดอย่างนั้น แต่ก็ไม่อยากให้ใช้เรื่องดังกล่าว เป็นเครื่องมือหาเสียงให้กับตนเอง

ขณะที่นายบุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคตะวันตก กล่าวว่า ปีที่ผ่่านมามีผู้ร้องเรียนสิบกว่ากรณี ซึ่งได้รับความเสียหายแตกต่างกันไป โดยทุกกรณีไม่ได้มีการฟ้องร้องแต่อย่างใด เพราะมีมาตรา 41 มาชดเชยเยียวยาผู้เสียหาย ส่วนการที่จะทำให้รัฐบาลเสียงบประมาณเป็นหมื่นล้านนั้น ตั้งข้อสังเกตว่าจะมีจำนวนผูู้เสียหายมากขึ้นหรือไม่ เพราะคนที่จะได้รับเงินชดเชยต้องเสียชีวิตหรือพิการเท่านั้น ซึ่งมั่นใจว่า ไม่มีแพทย์คนไหนอยากจะทำให้เกิดความเสียหายขึ้น แต่เมื่อมีผู้เสียหายแล้วจะดูแลอย่างไร

“พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะช่วยเยียวยาทั้งแพทย์และผู้เสียหาย โดยโรงพยาบาลเอกชนจะสมทบเงินเข้ามาตามโครงสร้างรายได้ แต่ตรงนี้โรงพยาบาลเอกชนไม่ต้องการเปิดเผยโครงสร้างรายได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับการเสียภาษี และคณะกรรมการแพทยสภา ที่เป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชน โดยไปดึงแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐมาร่วมคัดค้านด้วย” บุญยืน กล่าว

บทสรุปของกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ดีๆ ที่ไม่ว่าจะทำเพื่อประชาชนหรือเพื่อแพทย์ สุดท้ายก็เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทยอยู่ดี แต่งานนี้ “สภาสูง” ตกที่นั่งลำบากอีกแล้ว เมื่อมีการใช้ “ชีวิตเป็นเดิมพัน” แลกผลประโยชน์ที่แฝงมากลายๆ.

2 สิงหาคม 2553

Next post > METHODS FOR COST-EFFECTIVENESS ANALYSIS: AN ADVANCED WORKSHOP

< Previous post การประชุม โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด