logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
การประชุมผู้แทนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสนอและคัดเลือกหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครั้งที่ 1/2553

การประชุมผู้แทนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสนอและคัดเลือกหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครั้งที่ 1/2553

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 นักวิจัย HITAP และ นักวิจัย IHPP ในฐานะเลขานุการของคณะทำงานชุดกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสนอและคัดเลือกหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมี นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เป็นประธานในการประชุม และเป็นประธานของคณะทำงานชุดนี้ ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ตึกกรมสุขภาพจิต อาคาร 3 ชั้น 5 กระทรวงสาธารณสุข

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมเป็นตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่ได้มีการคัดเลือกไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนกรมควบคุมโรค, ผู้แทนกรมบัญชีกลาง, ผู้แทนคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผู้แทนราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย, ผู้แทนราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิก แห่งประเทศไทย, ผู้แทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, ผู้แทนราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย, ผู้แทนคณบดีคณะเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย, ผู้แทนศูนย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คณะเศรษฐศาสตร์, ผู้แทนคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งประเทศไทย, ผู้แทนคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์, ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรเขต 1, ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรเขต 2, ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรเขต 5, ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรเขต 11, ผู้แทนเครือข่ายสานสายใยเพื่อสุขภาพหัวใจดี, ผู้แทนเครือข่ายโรคมะเร็ง, ผู้แทนสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสซึม (ไทย), ผู้แทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย, ผู้แทนสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์, ผู้แทนสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน, ผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์, ผู้แทนเครือข่ายจังหวัดกรุงเทพมหานคร, ผู้แทนเครือข่ายจังหวัดสกลนคร, ผู้แทนเครือข่ายจังหวัดเชียงใหม่, ผู้แทนเครือข่ายจังหวัดภูเก็ต,

นพ.พงษ์พิสุทธิ์  จงอุดมสุข กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการพิจารณาแนวปฏิบัติและวิธีการทำงานเพื่อเป็นกรอบสำหรับใช้ในกระบวนการทำงานของคณะทำงานชุดนี้ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการหารือในที่ประชุมครั้งนี้มีข้อเสนอในหลายๆ ประเด็น ดังนี้

ในกลุ่มที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในกรณีของผู้ป่วย  ซึ่งในเบื้องต้นไม่สามารถมีสิทธิ์ออกเสียงได้ อันเนื่องมาจากกลุ่มผู้ป่วยโรคหนึ่งอาจจะไม่เป็นตัวแทนของทุกโรคได้  แต่จากการประชุมในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 มีผู้ให้ความเห็นว่ากลุ่มผู้ป่วยสามารถใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาข้อมูลได้และไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเชิงธุรกิจ จึงควรมีสิทธิ์ออกเสียงแต่กลุ่มที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเชิงธุรกิจนั้นไม่ควรมีสิทธิ์ออกเสียง

การให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาสังเกตการณ์ก็เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากมีการอภิปรายกันถึงความเหมาะสมของการเข้ามาสังเกตการณ์ของกลุ่มนี้  ทำให้มีมติว่าควรจะยกเลิกการเข้ามาสังเกตการณ์ของกลุ่มอุตสาหกรรมไว้ก่อน ทั้งนี้เนื่องจากในการประชุมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรม ก็จะเชิญมาให้ข้อมูลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามข้อมูลทุกอย่างจากการประชุมจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไปเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติ เห็นชอบให้กลุ่มผู้ป่วยมีสิทธิในการออกเสียงในการคัดเลือก และให้ยกเลิกการเข้าสังเกตการณ์ของกลุ่มอุตสาหกรรมไว้ก่อน

สำหรับการตรวจสอบผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในกลุ่มผู้มีสิทธิคัดเลือก จะใช้ระบบสปิริตให้ผู้ที่คิดว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนแสดงตัวออกมาเอง ในกรณีที่การตัดสินคัดเลือกหัวข้อฯ ไม่มีฉันทามติ ให้ตัดสินโดยใช้เสียงข้างมากของคณะทำงาน

นอกจากนั้นนักวิจัย HITAP ยังได้อธิบายประเด็นและเกณฑ์การคัดเลือกหัวข้อและปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพเข้าสู่การประเมิน เพื่อทำความเข้าใจแก่คณะทำงานก่อนที่จะใช้เกณฑ์ดังกล่าวในการคัดเลือกหัวข้อ โดยในที่ประชุมได้มีข้อซักถามและได้มีการชี้แจงในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1) ผู้ได้รับผลกระทบไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ป่วยทุกราย เพราะบางเรื่องผู้ได้รับผลกระทบอาจไม่ใช่ผู้ป่วยก็ได้
2) เกณฑ์ในการกำหนดจำนวนผู้ป่วยเพื่อการให้คะแนน ได้มาจากการทบทวนวรรณกรรมจากต่างประเทศ และพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในเมืองไทยว่าเกณฑ์ดังกล่าวเหมาะสมและมีความเป็นไปได้
3) คณะทำงานชุดนี้มีสิทธิขาดในการใช้ดุลยพินิจคัดเลือกหัวข้อที่ผ่านเกณฑ์การรวมคะแนนจากเกณฑ์ต่างๆแล้วว่าเห็นด้วยหรือไม่ มีความเหมาะสมหรือไม่และมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงลำดับของหัวข้อได้ตามความเหมาะสม
4) ในเกณฑ์ของประสิทธิผลของเทคโนโลยีด้านสุขภาพนั้นจะพิจารณาทั้งวิธีการรักษาโรคและความแม่นยำ โดยจะมีการพิจารณาแยกกัน มีประเด็นเพิ่มเติมว่าให้มีการแบ่งประเด็นความแม่นยำและวิธีการรักษาออกจากกัน โดยให้แบ่งความแม่นยำเป็น 3 ระดับ และวิธีการรักษาโรคเป็น 2 ระดับเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ซึ่งประธานได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ นำไปพิจารณาเพิ่มเติมและหาข้อยุติกับเรื่องนี้
5) ในเกณฑ์การให้คะแนนของความแตกต่างในทางปฏิบัติ การให้คะแนนจะขึ้นอยู่กับหลักฐานว่ามีความชัดเจนมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากการหาข้อมูลในเรื่องขนาดของความแตกต่างจะหาได้ยากมากจึงขอให้พิจารณาจากหลักฐานทางวิชาการเป็นหลัก
6) เกณฑ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของครัวเรือน กำหนดโดยใช้ผลการสำรวจทางสถิติจากครัวเรือนทั่วประเทศของสำนักงานสถิติแห่งชาติและข้อมูลจากการวิจัย ถ้าไม่มีข้อมูลการสำรวจในช่วงระยะเวลาการทำงานของคณะทำงานจะใช้วิธีการประมาณการโดยฝ่ายเลขาฯ โดยจะชี้แจงให้คณะทำงานทราบ และให้คณะทำงานใช้ดุลยพินิจตัดสินใจได้
7) ในเกณฑ์ของความเป็นธรรมและประเด็นทางสังคมและจริยธรรม ที่ประชุมได้มีการทักท้วงเกี่ยวกับการกำหนดองค์ประกอบ (ระดับรายได้ของผู้ได้รับผลกระทบ และระดับความชุกของโรคหรือปัญหาสุขภาพ) ในการให้คะแนน ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบในการเรียงระดับของคะแนนใหม่
สำหรับแนวทางการเตรียมข้อมูลสำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสนอหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพเข้าสู่การประเมิน จะอ้างอิงจากเอกสารวิชาการตามที่กำหนดให้ โดยในการนำเสนอผู้เสนอต้องหาข้อมูลประกอบการเสนอมาหนึ่งชุด และฝ่ายเลขาฯ จะหาข้อมูลมาอีกหนึ่งชุด ถ้าหากไม่มีข้อมูลเลยทางคณะทำงานจะพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้แต่ละกลุ่มจะเสนอได้กลุ่มละไม่เกิน 3 เรื่อง โดยฝ่ายเลขาฯ จะสนับสนุนเรื่องงบประมาณในการดำเนินการของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

2 เมษายน 2553

Next post > ขอเชิญร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “จากงานประจำสู่งานวิจัย“ ครั้งที่ 3 วันที่ 14-16 กรกฎาคม 2553

< Previous post ประชุมผู้เชี่ยวชาญในโครงการ “การประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ของวัคซีนนิวโมคอคคอลคอนจูเกต”

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด