logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
การประชุมเพื่อจัดลำดับความสำคัญหัวข้อวิจัยในระบบสุขภาพของประเทศไทย ประจำปี 2553

การประชุมเพื่อจัดลำดับความสำคัญหัวข้อวิจัยในระบบสุขภาพของประเทศไทย ประจำปี 2553

         เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2553 HITAP ร่วมกับ 6 หน่วยงาน จัดการประชุมเพื่อจัดลำดับความสำคัญของหัวข้อวิจัยที่เป็นปัญหาสำคัญของระบบสุขภาพในประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2553 ซึ่งนับเป็นความร่วมมือครั้งแรกและครั้งสำคัญของหน่วยงานวิจัยระดับชาติ โดยมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหัวเรือใหญ่ ร่วมกับเครือข่ายงานวิจัยอีก 6 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เครือข่ายวิจัยคลินิกสหสถาบัน (CRCN) สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ณ ห้องริชมอนด์ แกรนด์ บอลรูม โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี มีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวนทั้งหมด 142 คน จาก 82 หน่วยงาน

ทั้งนี้ 7 หน่วยงานดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาวิชาชีพด้านสุขภาพ ราชวิทยาลัยด้านสุขภาพ สมาคมทางการแพทย์และสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กลุ่มงานสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ สำนักงานมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ กรมบัญชีกลาง หน่วยงานราชการทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  สถาบันการศึกษา บริษัทยา บริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ และภาคประชาสังคม รวมทั้งหมด 246 หน่วยงาน ส่งหัวข้องานวิจัยที่แต่ละหน่วยงานเห็นว่ามีความสำคัญและต้องการข้อมูลจากงานวิจัยไปใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายหรือการปฏิบัติงานเข้ามา ผลปรากฏว่ามีหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือ 64 หน่วยงาน ส่งหัวข้อเข้าร่วมการพิจารณารวม 115 หัวข้อ

หลังจากนั้นนักวิจัยจากหน่วยงานร่วมจัดทั้ง 7 หน่วยงานได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกหัวข้อในรอบแรก โดยใช้เกณฑ์ ดังนี้  เป็นหัวข้อที่ไม่เคยมีการวิจัยมาก่อนในประเทศไทย หรือมีความจำเป็นที่ต้องทำวิจัยซ้ำ และเรื่องนั้นเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ ดังนี้

• ก่อหรืออาจก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นในภาคครัวเรือน
• ก่อหรืออาจก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังของรัฐบาล
• มีแนวโน้มจะทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก
• มีแนวโน้มจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
• มีแนวโน้มจะทำให้เกิดผลกระทบด้านศีลธรรมจริยธรรมในสังคมอย่างกว้างขวาง
• ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือประสิทธิภาพของเทคโนโลยีหรือมาตรการที่ดีอื่นๆ
• มีความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนวิธีปฏิบัติซึ่งส่งผลต่อผลการรักษาหรือต้นทุนของการรักษา

และเพื่อให้หัวข้องานวิจัยที่ส่งเข้ามาทั้งหมดเหลือเพียง 15 หัวข้อ ทั้ง 7 หน่วยงานที่ร่วมจัด ได้มีการประชุม และทำการทบทวนวรรณกรรมของทุกหัวข้อที่ส่งเข้ามา เพื่อพิจารณาและคัดเลือกให้ได้หัวข้องานวิจัยเพียง 15 หัวข้อ ประกอบด้วย

1. บทบาทองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำมาตรการทางสังคมเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน
เสนอโดย สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. การศึกษาปรากฏการณ์ Sisyphus syndrome ในรายจ่ายสุขภาพของประเทศ
เสนอโดย คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3. การศึกษาแนวทางลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
เสนอโดย กองอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
4. โครงการประเมินผลการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาในสถานศึกษา
เสนอโดย กองอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
5. การพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศต้นแบบเพื่อการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน
เสนอโดย สมาคมประสาทวิทยา
6. การพัฒนาระบบการคัดกรองทางสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับประชาชน
เสนอโดย กรมแพทย์ทหารเรือ กระทรวงกลาโหม
7. ผลกระทบและมาตรการรองรับ กรณีการเปิดตลาดบริการ (ชุดที่ 7) ภายใต้อาเซียนในสาขาสุขภาพ
เสนอโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
8. รูปแบบการรักษาโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลันที่เหมาะสมกับประเทศไทย
เสนอโดย สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์
9. การศึกษาต้นทุน ผลกระทบและความสูญเสียทางสังคม เศรษฐกิจและสุขภาพ ของผู้ติดยาเสพติดในประเทศไทย
เสนอโดย สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์
10. ผลของการให้หญ้าหนวดแมวสกัดในระยะยาวต่อการรักษาอาการอีสานรวมมิตร
เสนอโดย สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
11. การศึกษาเปรียบเทียบค่าต้นทุนประสิทธิผลการกดจุดบำบัดที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่เป็นโรคข้ออักเสบกับการแพทย์แผนไทย
เสนอโดย สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
12. การเข้าถึงยาแก้ปวดกลุ่ม opioid เพื่อการจัดการความปวดและการรักษาแบบประคับประคอง
เสนอโดย กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
13. การศึกษาการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนย่าและเด็งกี่ในยุงลาย การตอบสนองของภูมิคุ้มกันในคน และพฤติกรรมป้องกันตนเองของประชาชน ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
เสนอโดย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 เชียงใหม่ กรมควบคุมโรค
14. การเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในครัวเรือนของประชากรไทย พ.ศ.2552
เสนอโดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
15. การศึกษาอัตราการรอดชีวิต วิธีการรักษา ตลอดจนผลของการรักษาโรคมะเร็งตับที่พบจากการตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังและติดตาม (screening และ surveillance) เปรียบเทียบกับโรคมะเร็งตับที่พบโดยที่ไม่มีการตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังและติดตาม
เสนอโดย สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย

ผลการคัดเลือกหัวข้องานวิจัยเพื่อจัดลำดับความสำคัญหัวข้อวิจัยในระบบสุขภาพของประเทศไทย ประจำปี 2553 จากทั้งหมด 15 หัวข้อ สำหรับหัวข้อที่ได้รับการคัดเลือก 5 หัวข้อ ได้แก่

ลำดับที่ 1 ซึ่งมีคะแนนเท่ากัน เรื่อง “การพัฒนาระบบการคัดกรองทางสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับประชาชน” และเรื่อง “ผลกระทบและมาตรการรองรับ กรณีการเปิดตลาดบริการ (ชุดที่ 7) ภายใต้อาเซียนในสาขาสุขภาพ”
ลำดับที่ 3. เรื่อง “การศึกษาแนวทางลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น”
ลำดับที่  4. การศึกษาปรากฏการณ์ Sisyphus syndrome ในรายจ่ายสุขภาพของประเทศ
ลำดับที่ 5. บทบาทองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำมาตรการทางสังคมเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน

และหลังจากที่ได้หัวข้อหัวข้อวิจัยในระบบสุขภาพของประเทศไทยแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการวิจัย เพื่อหาข้อมูลช่วยในการตัดสินใจเชิงนโยบายหรือการฏิบัติทางด้านสุขภาพ โดยมุ่งหวังให้เกิดการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อไป

10 กุมภาพันธ์ 2553

Next post > HITAP, IHPP พร้อมด้วยนักวิชาการและตัวแทนจากสถาบันวิจัย จัดประชุมร่างข้อเสนอและเกณฑ์การคัดเลือกหัวข้อปัญหาสุขภาพและ/หรือเทคโนโลยีเพื่อเข้าสู่การประเมิน

< Previous post ผลการจัดลำดับความสำคัญหัวข้อวิจัยในระบบสุขภาพของประเทศไทย ประจำปี 2553

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด