logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

      การวัดน้ำหนักอรรถประโยชน์โดยใช้ EQ-5D

          EQ-5D เป็นหนึ่งในหลายๆ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับสุขภาพแบบทั่วไป ซึ่งไม่จำกัดอายุ เพศ หรือภาระโรคที่เป็น มีข้อดีคือสามารถประเมินมิติของสุขภาพได้หลายมิติโดยใช้เพียงเครื่องมือเดียว และทำให้สามารถเปรียบเทียบระหว่างโรคต่างๆ ได้ แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกันคืออาจไม่คลอบคลุมถึงอาการหรือลักษณะที่เฉพาะเจาะจงของโรคต่างๆ และอาจไม่มีความไวหรือการตอบสนองที่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงของโรคหรืออาการ การนำไปใช้ประโยชน์คือสามารถนำคะแนนอรรถประโยชน์ซึ่งรายงานคะแนนเป็นตัวเลขเดี่ยวๆ (utility scores) ไปใช้ในการวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ได้ (ที่มา: คู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย, 2552)

          เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือวัดอรรถประโยชน์อื่นๆ เช่น standard gamble (SG), time tradeoff(TTO), health utility index (HUI), quality of well-being (QWB) แล้วแบบสอบถาม EQ-5D นับว่าเป็นเครื่องมือที่สั้นและง่ายกว่าในการตอบ นอกจากนั้นยังมีความถูกต้อง ความแม่นยำ และความไวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ดีหรือยอมรับได้ ดังนั้นคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทยจึงเสนอแนะให้ใช้แบบสอบถาม EQ-5D ในการหาอรรถประโยชน์ในประชากรไทย

          สำหรับลิขสิทธิ์ในการใช้แบบสอบถาม EQ-5D นั้น ไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงแต่ขออนุญาตการใช้กับEuroQOL group ได้ที่เว็บไซต์ www.euroqol.org แต่หากต้องการคู่มือการใช้ EQ-5D ซึ่งประกอบด้วยการสร้างเครื่องมือ การใช้ การแปล และผลการศึกษาในประชากรประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยสามารถศึกษาจากหนังสือชื่อ “The measurement and valuation of health status using EQ-5D: AEuropean perspective” นอกจากนี้ยังมีสูตรวิธีคำนวณหาอรรถประโยชน์ของประเทศอเมริกาสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.ahrq.gov/rice/EQ5Dscore.htmสำหรับประเทศไทยเห็นความสำคัญของการสร้างเครื่องมือวัดน้ำหนักอรรถประโยชน์เพื่อใช้ในประชากรไทยที่มีภาวะสุขภาพต่างๆ จึงได้มีโครงการวิจัย “การวัดน้ำหนักอรรถประโยชน์ของคุณภาพชีวิตในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้ทรัพยากรสาธารณสุขในประเทศไทย” ทั้งนี้สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และขอรับรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ที่ “โครงการพัฒนาเครื่องชี้วัดภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทย(http://thaibod.org)” หรือ “โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ(www.hitap.net/report.php)” อนึ่งในท้ายเอกสารฉบับนี้ได้ให้ตัวอย่างแบบประเมินฉบับภาษาไทย และวิธีคำนวณคะแนนอรรถประโยชน์ซึ่งสามารถหาได้ 2 วิธี คือโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์หรือโดยใช้ตารางสำเร็จรูป

สามารถ Downloads เอกสารเพิ่มเติมได้ ที่นี่   Brief EQ-5D-TH  

25 มกราคม 2553

Next post > ผลการจัดลำดับความสำคัญหัวข้อวิจัยในระบบสุขภาพของประเทศไทย ประจำปี 2553

< Previous post ผลการทบทวนวรรณกรรมและจัดลำดับความสำคัญเบื้องต้นการจัดลำดับความสำคัญหัวข้อวิจัยในระบบสุขภาพของประเทศไทย

Related Posts