ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ประชุมผู้เชี่ยวชาญ
“การประเมินความคุ้มค่าของการตรวจคัดกรองโรคสมาธิสั้นในเด็กวัยเรียน”
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 52 นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ได้จัดประชุมการศึกษาวิจัยเรื่อง “การประเมินความคุ้มค่าของการตรวจคัดกรองโรคสมาธิสั้นในเด็กวัยเรียน ” ที่ห้องประชุมโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการตรวจคัดกรองสมาธิสั้นที่มีความคุ้มค่าและเหมาะสมสำหรับเด็กวัยเรียนในประเทศไทย
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อหากรอบในการศึกษาวิจัยที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการคัดกรองโรคสมาธิสั้นในเด็กวัยเรียน อาทิเช่น ศ.คลินิก พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ พญ.ดร.ภาสุรี แสงศุภวานิช ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พญ.สุนทรี ฉัตรศิริมงคล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พญ.เพ็ญศรี กระหม่องทอง กลุ่มอนามัยเด็กวัยเรียนและเยาวชน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กล่าวว่าเนื่องจากโรคสมาธิสั้นในเด็กวัยเรียนมีหลายฝ่ายให้ความสนใจ และมีหลายหน่วยงานที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ แต่ยังขาดการเชื่อมประสานกัน ดังนั้นการประชุมวันนี้จัดขึ้นเพื่อศึกษาประสบการณ์จากกระทรวงศึกษาธิการที่ได้ดำเนินการคัดกรองเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนและพฤติกรรม เพื่อให้มีการประสานความร่วมมือในการดำเนินงานรวมถึงมีนโยบายไปในทิศทางเดียวกันระหว่างกระทรวงศึกษาและกระทรวงสาธารณสุข
ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม สมาธิสั้น และบกพร่องทางการเรียนรู้ นำเสนอประสบการณ์ที่โรงเรียนฯ ได้มีการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ เด็กสมาธิสั้น และเด็กออทิสติกอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี โดยมีการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมและการอบรมผู้ปกครอง นอกจากนี้ได้ศึกษาวิจัยแบบคัดกรอง KUS-SI โดยร่วมกันพัฒนาขึ้นกับทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งต่อมาทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำแบบคัดกรอง KUS-SI ไปใช้คัดกรองนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ของโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด สำหรับแบบคัดกรองชุดนี้ครูสามารถใช้คัดกรองเด็กระดับประถมศึกษาที่มีปัญหาการเรียนหรือพฤติกรรมในเบื้องต้น จากนั้นได้ส่งต่อให้แพทย์วินิจฉัยและทางโรงเรียนเป็นผู้จัดการศึกษาพิเศษให้กับกลุ่มเด็กเหล่านั้น
สำหรับเด็กที่ถูกประเมินว่ามีปัญหาการเรียนหรือพฤติกรรม ทางโรงเรียนฯ ได้จัดการเรียนการสอนพิเศษในห้องเสริมวิชาการ โดยมีครู 1 คนดูแลเด็กประมาณ 3-5 คน ซึ่งจากการขยายผลไปยังโรงเรียนต่างๆ พบว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากภายใน 1 เทอม โดยเด็กมีทัศนคติและพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงกระตือรือร้นและสนใจที่จะอ่านหนังสือมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่สุดคือ “ผู้บริหาร” จะต้องให้ความสำคัญ รวมทั้งให้การสนับสนุนกิจกรรมที่โครงการฯ ไปเสริมให้กับทางโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล ได้ให้ข้อเสนอเพิ่มเติมว่าการจัดการเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้นั้นมีหลายแนวทาง แต่ละแนวทางมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ฉะนั้นทีมวิจัยควรพิจารณาอย่างรอบด้าน อย่างไรก็ตามการนำผลการวิจัยลงสู่การปฏิบัติจะต้องเน้นที่กลไกการบริหารจัดการ ระบบการดูแลช่วยเหลือ และสร้างกระบวนการคิดใหม่ให้กับครู โดยอาจมีการจัดทำกรณีตัวอย่างโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ (success story) เพื่อใช้เป็นแบบอย่างสำหรับโรงเรียนแห่งอื่น
สำหรับแนวทางของทีมวิจัย HITAP ที่จะดำเนินการต่อไป คงต้องเชื่อมการทำงานระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขเข้าด้วยกัน โดยจะนำเสนอผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการเห็นความสำคัญ รวมถึงเสนอแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ตลอดจนงบประมาณ และบุคลากรที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้
24 กันยายน 2552