logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

นักวิจัยลงพื้นที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ 12 จังหวัด


       เนื่องจากในประเทศไทยโรคมะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งทุกชนิดในเพศหญิง และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ร่วมกับหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ทำการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการ “การประเมินผลสัมฤทธิ์และปัจจัยที่มีผลต่อโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี  Pap smear และ Visual Inspection with Acetic Acid (VIA)”

       สำหรับวัตถุประสงค์ทั่วไปของงานวิจัยดังกล่าวเพื่อประเมินผลลัพธ์ของโครงการ (outcome) และปัจจัยที่มีผล (determinant) ต่อความสำเร็จของโครงการป้องกันและควบคุมมะเร็งปากมดลูกในสตรีไทยอายุระหว่าง 30 ถึง 60 ปี ในช่วงระยะเวลาปี พ.ศ.2549-2552

       ส่วนวัตถุประสงค์เฉพาะของงานวิจัยนี้คือเพื่อประเมินอัตราการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในแต่ละวิธีของสตรีไทยที่มีอายุระหว่าง 30 ถึง 60 ปี, ปัจจัยของสตรีไทยอายุระหว่าง 30 ถึง 60 ปีที่มีผลต่อการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในแต่ละวิธี, ปัจจัยของบุคลากรและสถานบริการที่มีผลต่ออัตราการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก, ประเมินอัตราการรักษาต่อเนื่องในผู้ที่มีผลการตรวจพบเซลล์ผิดปกติ, วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการเข้ารับการรักษาต่อในผู้ที่มีผลการตรวจพบเซลล์ผิดปกติ และประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการประเมินตัวแปรการพบมะเร็งปากมดลูกระยะต่างๆและเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระหว่างก่อนดำเนินโครงการปี พ.ศ.2547-2548 และหลังดำเนินโครงการปี พ.ศ. 2549-2552

       สำหรับการพื้นที่ในการลงเก็บข้อมูลในการศึกษาวิจัยประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม – 8 กันยายน 52 จ.นครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 8-25 ตุลาคม 52 จ.นครพนม ระหว่างวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 52  จ.ร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ 17-21 พฤศจิกายน 52  จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 23-30 พฤศจิกายน 52 จ.แพร่ ระหว่างวันที่ 14 -17 ธันวาคม 52 จ.พิษณุโลก ระหว่างวันที่ 19 – 24 ธันวาคม 52 จ.ชุมพร ระหว่างวันที่ 6-10 มกราคม 53  จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม 53 จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 21-24 มกราคม 53 จ.สระแก้ว ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 53 และ จ.นครปฐม ระหว่างวันที่ 5-12 กุมภาพันธ์ 53

       ซึ่งในการลงพื้นที่แต่ละจังหวัด นายธีระ ศิริสมุด ในฐานะนักวิจัยหลัก และทีมผู้ช่วยนักวิจัย จะลงเก็บข้อมูล 3 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลของผู้รับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (หญิงกลุ่มเป้าหมายอายุ 30-60 ปี) ข้อมูลของผู้ให้บริการและสถานบริการสาธารณสุข และข้อมูลผู้บริหารของสถานบริการสาธารณสุขนั้นๆ ในระหว่างช่วงการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้ง 12 จังหวัด ทีมวิจัยจะมีการนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นเป็นระยะๆ และจะวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์และปัจจัยที่มีผลต่อโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี  Pap smear และ Visual Inspection with Acetic Acid (VIA) โดยความคาดหวังของการศึกษาครั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลต่างๆเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายหรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านการควบคุมและป้องกันมะเร็งปากมดลูก อีกทั้งในส่วนของผู้ให้บริการสามารถใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติงานให้ตอบสนองต่อความต้องการของหญิงกลุ่มเป้าหมายต่อไป



24 กันยายน 2552

Next post > HITAP จัดการอบรมเรื่อง “การวิจัยเชิงคุณภาพ” เพื่อปรับพื้นฐานความรู้และเตรียมความพร้อมทีมนักวิจัยก่อนลงพื้นที่เก็บข้อมูลงานวิจัย

< Previous post นักวิจัย HITAP ลงพื้นที่เก็บข้อมูลโครงการ “ประเมินผลสัมฤทธิ์และปัจจัยที่มีผลต่อการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Pap smears และ Visual Inspection with Acetic (VIA)” ที่จ.เชียงใหม่

Related Posts