logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ประชุมวิชาการ “เส้นทางสู่มาตรฐานและการนำไปใช้ : คู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย”

ประชุมวิชาการ

“เส้นทางสู่มาตรฐานและการนำไปใช้ : คู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย”

   เมื่อวันที่ 12-13 มีนาคมที่ผ่านมา โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้จัดการประชุมวิชาการ ในหัวข้อ  “เส้นทางสู่มาตรฐานและการนำไปใช้ : คู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย” ณ โรงแรมวินเซอร์สวีทส์  กรุงเทพมหานคร โดยมีแพทย์ เภสัชกร นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และผู้ที่สนใจเรื่องการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ จากทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 150 คน เข้าร่วมการประชุม

รศ.ดร.ภก.เนติ  สุขสมบูรณ์  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นนักวิจัยอาวุโสของ  HITAP กล่าวถึงที่มาของการจัดการประชุมในครั้งนี้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ข้อมูลการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และเกิดการอภิปรายโต้แย้งกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับวิธีการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรในระบบสุขภาพที่วางอยู่บนหลักการและหลักฐานที่ชัดเจน ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดนิยามและวิธีการที่ใช้สำหรับตัดสินใจเผยแพร่ให้กับสาธารณะอย่างทั่วถึง

แต่ที่ผ่านมาพบว่า การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในประเทศไทยยังมีจุดอ่อนบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการศึกษา ซึ่งรวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอผลการประเมิน โดยที่นักวิจัยแต่ละสถาบัน  ต่างก็ยึดถือหลักการและแนวทางที่แตกต่างกัน สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีการกำหนดแนวทางการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพมาก่อน  ทำให้หน่วยงานผู้กำหนดนโยบายและบุคลากรด้านสุขภาพเกิดความสงสัยในคุณภาพและความน่าเชื่อถือของผลการประเมินและลังเลที่จะนำไปใช้ประโยชน์

HITAP เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างศักยภาพของการวิจัยในสาขานี้ จึงประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสถาบันการศึกษา และองค์กรด้านการวิจัยทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทยฉบับแรกขึ้น โดยทบทวนวรรณกรรมที่เป็นคู่มือหรือแนวทางการประเมินที่ใช้อยู่ในหน่วยงานของรัฐในประเทศต่างๆ  และรวบรวมหลักเกณฑ์ วิธีการจากตำราวิชาการที่เป็นมาตรฐาน ตลอดจนค้นคว้าจากฐานข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียด แล้วนำมาปรับปรุงให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย
อนึ่งตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติและคณะอนุกรรมการ  ได้นำคู่มือฯ นี้ไปใช้เป็นแนวทางพิจารณาข้อมูลหลักฐานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขในการคัดเลือกยาและเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่อยู่ในความรับผิดชอบ

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดการประชุมวิชาการครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้นิพนธ์แต่ละบทของคู่มือฯ และผู้ใช้ประโยชน์จากการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ตลอดจนนักวิจัย ได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำความเข้าใจกับหลักการและวิธีศึกษาวิจัยตามที่ปรากฏในคู่มือฯ  อีกทั้งสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ในการตัดสินใจกำหนดนโยบายและเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม

ผู้ที่ศึกษาเนื้อหาของคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทยเล่มนี้  หากมีข้อเสนอแนะประการใด สามารถติดต่อไปยังโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ  ชั้น 6  อาคาร 6 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์  อ.เมือง จ.นนทบุรี โทร 0 2590 4374-5 ทางโครงการยินดีรับฟัง และนำไปใช้ประกอบการปรับปรุงคู่มือฯ ในโอกาสต่อไป 

*****************************************************************

23 มีนาคม 2552

Next post > แลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัยซีแอล ณ ประเทศเกาหลีใต้

< Previous post การนำเสนอผลการประเมิน HITAP ต่อคณะกรรมการที่ปรึกษา

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด