logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

      เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน มักมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นและแต่ละครั้งก็มียอดผู้ประสบอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการณรงค์และหามาตรการป้องกันจากหลายๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่อุบัติเหตุยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเทศกาลปีใหม่ ของปี 52 ยอดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีคนเจ็บรวม 42,179 ราย เสียชีวิตรวม 857 ราย ซึ่งสาเหตุสำคัญคือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

      เมื่อสถานการณ์อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับเพิ่มขึ้นในทุกปี ทำให้ภาครัฐต้องหามาตรการเพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ โดยการออก พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เรื่องการห้ามจำหน่ายและสถานที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเนื้อหาของ พรบ. คือการกำหนดอายุของผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกำหนดช่วงเวลาในการจำหน่ายเพื่อไม่ให้ผู้ดื่มซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตลอดเวลา

      เพื่อประเมินผลของมาตรการดังกล่าว ดังนั้น โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP(Health Intervention and Technology Assessment Program) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพ และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข โดยมีภารกิจหลักในด้านการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั้งส่วนบุคคลและสังรวม รวมถึงนโยบายสังคมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ จึงได้ทำการศึกษาและประเมินผลการบังคับใช้มาตรการจำกัดการเข้าถึงและการหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามที่กฎหมายกำหนดขึ้น

      น.ส.ชนิดา เลิศพิทักษ์พงศ์ นักวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กล่าวว่า จากผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้หน่วยงานหลายฝ่ายต่างผลักดันให้เกิดนโยบายเพื่อควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และได้ประกาศออกมาเป็น พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อจำกัดการเข้าถึงและการหาซื้อ

      สำหรับ พรบ.ดังกล่าว เป็นการจำกัดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ต่างๆ และวัยของผู้ซื้อ รวมทั้งเวลาในการจำหน่าย เพื่อประเมินว่ามาตรการดังกล่าวมีการปฏิบัติตามมากน้อยเพียงใด ทาง HITAP จึงเข้ามาทำการประเมินผลของการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางในการปรับใช้ที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของการศึกษาในครั้งนี้ เป็นกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี จำนวน 2,368 คน ทั่วประเทศ และเป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ใน 12 เดือนที่ผ่านมา

      ผลการศึกษาพบว่า สถานที่ที่มีการซื้อสูงที่สุดคือร้านขายของชำ คิดเป็นร้อยละ 71.1 ทั้งนี้พบว่าร้านค้าในสถานบริการน้ำมัน ในช่วงเวลา 18.00 -18.59 น. เป็นช่วงเวลาที่มีผู้ซื้อสูงที่สุดถึงร้อยละ 34.2 การจำแนกตามเวลาในการซื้อที่กฎหมายอนุญาตและไม่อนุญาตพบว่า ผู้ซื้อส่วนใหญ่ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามที่กฎหมายอนุญาต คือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. ร้อยละ 90 แต่ก็ยังมีผู้ที่ซื้อในช่วงเวลาที่ไม่อนุญาตถึงร้อยละ 10.4 จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาลมีโอกาสซื้อสุราในเวลาที่กฎหมายไม่อนุญาตมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล 1.4 เท่า เพศหญิงที่ดื่มแบบเสี่ยงปานกลางมีโอกาสซื้อสุราในเวลาที่ผิดกฎหมายมากกว่ากลุ่มอื่นๆ 3 เท่า ผู้ที่มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและดื่มแบบเสี่ยงต่ำมีโอกาสซื้อสุราในเวลาที่ผิดกฎหมายมากกว่ากลุ่มอื่นๆ 2 เท่า และผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างและดื่มแบบเสี่ยงต่ำมีโอกาสซื้อสุราในเวลาที่กฎหมายไม่อนุญาตมากกว่ากว่ากลุ่มอื่นๆ 3 เท่า

       สำหรับกลุ่มอายุที่ซื้อสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า กลุ่มที่ซื้อแอลกอฮอล์มีอายุอยู่ในช่วง 30-44 ปี มากที่สุดถึงร้อยละ 43.4 รองลงมาคืออายุ 45-60 ปี ร้อยละ 35.0 และอายุ 15-29 ปี ร้อยละ 21.6 ทั้งนี้พบว่า ยังมีกลุ่มตัวอย่างอายุ 15-17 ปี จำนวน 20 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.9 ซึ่งเป็นกลุ่มที่กฎหมายห้ามดื่มและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ยังสามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

       จากผลการศึกษามาตรการจำกัดการเข้าถึงและหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเห็นได้ว่ามาตรการการจำกัดสถานที่และอายุผู้ซื้อมีการปฏิบัติได้ค่อนข้างดีกว่ามาตรการจำกัดเวลาในการซื้อ ทั้งนี้เนื่องจากในทางปฏิบัตินั้นการควบคุมสถานที่และอายุผู้ซื้อนั้นทำได้ง่ายและเป็นรูปธรรมชัดเจนกว่า ส่วนการจำกัดเวลานั้นจะทำได้ยากทั้งในแง่ของผู้จำหน่ายที่ขาดความตระหนักถึงตัวบทกฎหมายและหวังผลกำไรเป็นสำคัญ ส่วนในแง่ของภาคบังคับใช้นอกจากยังมีการปฏิบัติที่ไม่เคร่งครัดแล้วยังอาจขาดบุคลากรในการตรวจจับตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกๆ จุดจำหน่ายทั่วประเทศ มาตรการต่างๆ ที่ออกมาอาจะไม่สำคัญเท่าถ้าทุกฝ่ายตระหนัก เข้าใจ และนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง 


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
โทร 0 2590 4549 โทรสาร 0 2590 4369


11 มีนาคม 2552

Next post > การประชุม “Collaborative Consultation meeting between MOPH Thailand and WHO on the development of an evidence based platform to assist countries with the decision making on introduction of new vaccines.”

< Previous post การป้องกันการถ่ายทอดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก

Related Posts