logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

Link : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000108551

นักวิจัย เผยพบเด็ก ป.1 และ ป.6 ได้รับวัคซีน ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดคือร้อยละ 95 เหตุเจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปฉีดวัคซีน

น.ส.เอมอร ราษฎร์จำเริญสุข นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ จากกลุ่มโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น ของปี 2552 จากการวิจัยเรื่อง “การสำรวจการได้รับวัคซีนในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 6 พ.ศ.2550 เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการให้วัคซีนอย่างเป็นระบบ มาตั้งแต่ปี 2520 ในกลุ่มเป้าหมายหลักอายุต่ำกว่า 1 ปี และหญิงมีครรภ์ ปัจจุบันมีการให้วัคซีนพื้นฐานเพื่อป้องกันโรครวม 10 โรค ได้แก่ วัณโรคในเด็ก โรคตับอักเสบบี โรคคอตีบ โรคไอกรน โรคบาดทะยัก โรคโปลิโอ โรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน และโรคไข้สมองอักเสบ ปรากฏว่า เกือบทุกวัคซีนมีความครอบคลุมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับทั้งในสถานีอนามัย อสม.และประชาชน เป็นผลทำให้โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนลดลงอย่างมาก และสามารถกวาดล้างไปได้สำเร็จ 1 โรค คือ โปลิโอ ในปัจจุบันไม่พบผู้ป่วยโปลิโอมากว่า 13 ปี

น.ส.เอมอร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการให้วัคซีนในกลุ่มนักเรียน เริ่มให้ในระดับชั้นประถมปีที่ 1 ตั้งแต่ปี 2525 และชั้นประถมปีที่ 6 เมื่อปี 2529 โดยกำหนดให้วัคซีนชนิดรวมเข็มเดียวกัน 3 ชนิด คือ หัด คางทูม หัดเยอรมัน หรือ เอมเอ็มอาร์ (MMR) แก่นักเรียนชั้น ป.1 และวัคซีนรวม 2 ชนิด คือ คอตีบ และบาดทะยัก หรือ วัคซีนดีที (DT) ในนักเรียนชั้น ป.6 แต่ปรากฏว่ายังพบมีการระบาดของโรคหัดและคางทูมในนักเรียน ในหลายพื้นที่ จึงได้ทำการสำรวจความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 6 และหาสาเหตุของการไม่ได้รับวัคซีน โดยสุ่มใน 12 จังหวัดๆ ละ 30 โรงเรียน เก็บข้อมูลเดือนมกราคม- มีนาคม 2550

ผลการสำรวจพบว่า ในกลุ่มเด็ก ป.1 ได้รับวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ครอบคลุมร้อยละ 91 ในกลุ่มเด็ก ป.6 ได้รับวัคซีนดีที ครอบคลุมร้อยละ 94 ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ ร้อยละ 95 สาเหตุที่วัคซีนไม่ครอบคลุม อันดับ 1 เกิดจากเจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปฉีดวัคซีน พบในเด็ก ป.1 ร้อยละ 66 จากโรงเรียน 21 แห่ง และ ป.6 ร้อยละ 41 จากโรงเรียน 13 แห่ง รองลงมาคือ เด็กไม่มาโรงเรียนในวันที่เจ้าหน้าที่ไปให้บริการฉีด อาจเกิดจากกลัวเข็ม กลัวหมอ ในเด็ก ป.1 พบร้อยละ 16 และ ป.6 พบร้อยละ 32

“การที่เจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปฉีดวัคซีนให้นักเรียนในโรงเรียน ทำให้นักเรียนไม่มีภูมิคุ้มกันโรค เป็นเหตุให้มีการระบาดของโรคเกิดขึ้น ดังนั้น ทุกจังหวัดจึงต้องเร่งแก้ไขโดยการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่อย่างเร่งด่วน ควรเพิ่มระบบการติดตาม ควบคุม กำกับ โดยดูจากการเบิกวัคซีน จำนวนวัคซีนที่ใช้ไป ประเมินผลการให้วัคซีนของสถานบริการจากการรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นรายโรงเรียน เมื่อตรวจสอบพบว่ายังไม่ได้ให้บริการ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบติดตามให้วัคซีนแก่เด็กโดยเร็ว” น.ส.เอมอร กล่าว

6 สิงหาคม 2553

Next post > อุปกรณ์แพทย์รพ.ไทยติดไวรัส

< Previous post อย่าขว้าง“มือถือ“ทิ้ง หลังจากทีี่่อ่านข่าวเรื่องนีี้้จบลงไปแล้ว

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด