ปัจจุบันอัตราส่วนของค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ (health expenditure) ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 5 และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการอุบัติขึ้นของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบให้บริการสาธารณสุข ภาคเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ภาครัฐต้องทุ่มทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเข้ากับระบบสาธารณสุขเพื่อให้มั่นใจได้ว่าประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้ตามความจำเป็นและทันท่วงที ดังนั้น การยกระดับประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การศึกษาและทำความเข้าใจกลุ่มผู้ป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง (high-cost users (HCUs)) ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถวางแผนการบริหารการคลังสุขภาพและช่วยให้ผู้ให้บริการในระบบสาธารณสุขสามารถวางแผนในการจัดสรรทรัพยากรสำหรับผู้ป่วยอันมีอยู่อย่างจำกัดได้ล่วงหน้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิย้อนหลัง (retrospective secondary data analysis) โดยใช้ฐานข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตนของเจ้าของข้อมูลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (UCS) ระหว่าง พ.ศ. 2559 – 2566 เพื่อตอบวัตถุประสงค์หลักของการศึกษา 4 ข้อ กล่าวคือ 1) เพื่อศึกษาลักษณะของกลุ่ม HCUs 2) เพื่อศึกษาแนวโน้มและรูปแบบของการจัดสรรทรัพยากรและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของกลุ่ม HCUs 3) เพื่อศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง (HCUs) และ 4) เพื่อเปรียบเทียบลักษณะของผู้ป่วย HCUs ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระหว่างภายใต้สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ (CSMBS) สิทธิหลักประกันสังคม (SSS) และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (UCS)