logo

Project Summary

ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพอาจส่งผลที่แตกต่างกันอย่างมากต่อประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการให้บริการ ความเข้าใจต่อลักษณะของกลไกการเงินการคลังที่แตกต่างกัน จะช่วยให้ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและผู้กำหนดนโยบายสามารถคัดเลือกชุดของกลไกที่เหมาะสมที่สุด แม้ว่าชนิดของกลไกการเงินการคลังจะไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของการดำเนินงานโดยตรง แต่ก็อาจส่งผลอย่างชัดเจนต่อผลสัมฤทธิ์ เช่น การเก็บเงินค่าบริการ (user fees) จากประชาชนอาจทำให้การใช้บริการลดลง และการจ่ายเงินให้สถานพยาบาลตามรายบริการ (fee for service) อาจช่วยเพิ่มความพยายามในการให้บริการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคจนบรรลุเป้าหมาย แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศต้องการการวางแผนการเงินการคลังในระยะยาว ซึ่งนอกจากจะเป็นหลักประกันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนที่จำเป็นอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมแล้ว ยังสามารถดำเนินแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นอกจากนี้ ในบางประเทศยังมีนโยบายด้านความมั่นคงและพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่สำคัญเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้เมื่อมีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข เช่น การระบาดใหญ่ของโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน อีกทั้งเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศให้มีความมั่นคงและแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ แม้นโยบายและกลไกการเงินการคลังที่เหมาะสมกับประเทศหนึ่งอาจไม่สามารถนำไปใช้อย่างมีประสิทธิผลในอีกประเทศหนึ่ง แต่การศึกษารูปแบบกลไกการเงินการคลังด้านวัคซีนและระบบบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องในประเทศที่มีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านจากการเป็น GAVI eligible country จึงอาจเป็นประโยชน์ในการพัฒนากลไกการเงินการคลังด้านวัคซีนในประเทศไทยต่อไป

Documents

Activity