logo

Project Code

Research team

Researchers

Co - Researcher

Project Details

Strategies
Category
Country

Project duration

Start: - January 2024
End: - September 2024

Contact

Project Status

Conducting Research - 45%

Viewer: 598

Publish date19 January 2024 02:41

Project Summary

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (non-Hodgkin’s Lymphoma; NHL) เป็น 1 ใน 10 ของมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย และเป็น 1 ใน 10 ของมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในคนไทย โดยในระยะเวลา 5 ปี พบผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด NHL จำนวนกว่า 19,000 ราย โดยมีอัตราอุบัติการณ์ปรับอายุ (age-standardized incidence rate) ในเพศชาย 7.4 ต่อแสนประชากรชายต่อปี มีอัตราอุบัติการณ์ปรับอายุ (age-standardized incidence rate) ในเพศหญิง 5.6 ต่อแสนประชากรหญิงต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 3.4 ต่อแสนประชากรต่อปี ข้อมูลจาก Thai Lymphoma Study Group พบว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Diffuse large B-cell lymphoma (DLBCL) เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด NHL ที่พบได้บ่อยที่สุด คืออยู่ที่ร้อยละ 58 ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในประเทศไทย ตามด้วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Follicular lymphoma (FL) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Extranodal Mucosa-Associated lymphoid Tissue associated lymphoma (EMALT) ที่ร้อยละ 5.6 และ 5.2 ตามลำดับ

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด DLBCL เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่มีการดำเนินโรคที่รุนแรง โดยมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีของประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 48.82 เครื่องมือที่ใช้ในการพยากรณ์โรคที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน ได้แก่ The International Prognostic Index (IPI), Revised IPI (R-IPI), และ National Comprehensive Cancer Network IPI (NCCN-IPI) โดยการกำหนดระยะของโรคเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่ใช้พยากรณ์โรคในเครื่องมือทั้ง 3 ชนิด ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีที่ช่วยประเมินระยะของโรคได้อย่างแม่นยำ จะมีส่วนช่วยในการพยากรณ์โรคและการวางแผนการรักษาได้ดีขึ้น

การตรวจประเมินระยะของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาด้วย Positron Emission Tomography-Computed Tomography (PET-CT) มีความแม่นยำ (accuracy) สูงกว่าเมื่อเทียบกับการตรวจด้วย Computed Tomography (CT) โดยเฉพาะในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่มีการดำเนินโรครุนแรง และมีการดูดซึม [18F]fluorodeoxyglucose (FDG) ที่สูง เช่น DLBCL เนื่องจากการตรวจด้วย CT scan เป็นการประเมินจากการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเซลล์เท่านั้น ในบางกรณีที่เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงภายใน แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างชัดเจน ทำให้การตรวจด้วยเครื่อง PET-CT scan มีความแม่นยำเหนือกว่าการประเมินด้วย CT scan

ในปัจจุบัน การตรวจประเมินระยะและการตอบสนองต่อการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด DLBCL ด้วยเครื่อง PET-CT ได้รับการบรรจุในแนวทางการรักษาทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการตรวจที่มีความไว (sensitivity) และมีความจำเพาะ (specificity) ที่สูงกว่าการตรวจด้วย CT scan จากการศึกษาเปรียบเทียบการตรวจรอยโรคที่ไขกระดูก ระหว่างการตรวจด้วยเครื่อง PET-CT scan กับการตรวจด้วยการตัดชิ้นเนื้อที่ไขกระดูก พบว่า การตรวจด้วย PET-CT มีความแม่นยำอยู่ที่ร้อยละ 98.5 ความไวร้อยละ 94 และความจำเพาะร้อยละ 100 ในขณะที่ความไวและความจำเพาะของการตรวจด้วยการตัดชิ้นเนื้อที่ไขกระดูกอยู่ที่ร้อยละ 40 และร้อยละ 100 ตามลำดับ

การตรวจด้วยเครื่อง PET-CT scan ได้รับการบรรจุเข้าในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน 2 ข้อบ่งใช้ ได้แก่ การประเมินระยะของโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer; NSCLC) และการประเมินระยะโรคเริ่มต้นและประเมินการตอบสนองระหว่างให้ยาเคมีบำบัดและหลังสิ้นสุดการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (HL) แต่ยังไม่มีการบรรจุการตรวจประเมินระยะและการตอบสนองต่อการรักษาของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด DLBCL ด้วย PET-CT ในชุดสิทธิประโยชน์ อย่างไรก็ตาม การตรวจประเมินระยะและการตอบสนองต่อการรักษาด้วย PET-CT นี้ ได้รับการบรรจุเข้าในชุดสิทธิประโยชน์ของสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ ตามประกาศอัตราค่าบริการสาธารณสุขเพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ ปี พ.ศ. 2562

การใช้ PET-CT ในการตรวจประเมินระยะของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด DLBCL ช่วยให้สามารถวางแผนการรักษาได้แม่นยำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่พบการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการตรวจ PET-CT ในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด DLBCL ในประเทศไทย ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณ และศึกษาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของการตรวจประเมินระยะและการตอบสนองต่อการรักษาของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด DLBCL ด้วยการใช้ PET-CT scan ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า