logo
Download Download 922
Views 828

Details

บทคัดย่อ
ประเทศไทยได้พยายามพัฒนากรอบบัญชียาจำเป็นหรือยาหลักแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปี พ.ศ. 2551 มีการนำข้อมูลความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการวิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกยาบางกลุ่มเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น ยาราคาสูง ยาที่มีผลกระทบด้านงบประมาณสูง เพื่อให้สามารถตอบสนองต่ออัตราการใช้ยาที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนายาใหม่ที่มีราคาสูงขึ้น คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (health technology assessment หรือ HTA) มาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษากระบวนการและผลการดำเนินงานของคณะทำงานดังกล่าว การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นบทบาทหน้าที่และการดำเนินงานของคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ รอบปี พ.ศ. 2559-2561 วิธีการศึกษาใช้รูปแบบการวิจัยเชิงพรรณนา ประกอบด้วยการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง และการสังเกตแบบมีส่วนร่วมในฐานะผู้ทำงานฝ่ายเลขานุการคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์เนื้อหา รายงานผลการศึกษาโดยเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กระบวนการดำเนินงานวิจัยภายใต้คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และผลการดำเนินงานวิจัยภายใต้คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ผลการศึกษาพบว่า กระบวนการดำเนินงานของคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ได้แก่ 1) การสรรหาทีมวิจัยที่สามารถดำเนินงานวิจัยได้อย่างมีคุณภาพ 2) การติดตามและควบคุมการดำเนินงานวิจัยให้เป็นไปตามคู่มือการ เนินงานวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ หรับประเทศไทย และ 3) การตรวจสอบและรับรองคุณภาพงานวิจัย เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม สำหรับผลการดำเนินงานในรอบปี พ.ศ. 2559-2561 ที่ผ่านมา พบว่า จากหัวข้องานวิจัยทั้งหมด 30 เรื่อง มีงานวิจัยที่แล้วเสร็จทั้งหมด 17 เรื่อง (ร้อยละ 56) และถูกส่งต่อไปยังคณะทำงานประสานผลการพิจารณายาในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อดำเนินการในลำดับต่อไปแล้ว ทั้งนี้ องค์ประกอบของคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ รวมถึงคณะผู้วิจัยที่ดำเนินการศึกษาแต่ละโครงการประกอบด้วยบุคลากรจากหลายภาคส่วน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและความโปร่งใสในการทำงานแนวทางการดำเนินงานในส่วนของการวิจัยมีขั้นตอนและกำหนดระยะเวลาชัดเจน โดยมุ่งหวังให้สามารถสนับสนุนการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้ทันการณ์ รวมถึงมีกระบวนการตรวจสอบและรับรองคุณภาพงานวิจัยที่เข้มงวดและมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน อย่างไรก็ตาม คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ควรพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานเพื่อรับมือกับปัญหาและอุปสรรคบางประการ เช่น การขาดแคลนบุคลากร และการขาดระบบบริหารจัดการที่เอื้อต่อการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อไปในอนาคต