รัฐบาลไทยเผชิญกับความท้าทายในการจัดหายาใหม่ราคาสูงให้แก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยา การใช้จ่ายนี้ไม่เพียงแต่สนับสนุนการผลิตและจำหน่ายของบริษัทยา แต่ยังช่วยส่งแสริมการพัฒนานวัตกรรมที่จะส่งผลดีต่อระบบบริการสุขภาพในอนาคต อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายนี้ทำให้รัฐบาลมีงบประมาณสำหรับลงทุนด้านบริการสุขภาพอื่น ๆ ลดลง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศ ซึ่งเรียกว่า ค่าเสียโอกาสจากการลงทุนด้านสุขภาพ (Health Oppotunity Cost: HOC)
ประเทศไทยใช้ความคุ้มค่าเป็นหนึ่งในเกณฑ์ตัดสินใจคัดเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ และตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ได้กำหนดเกณฑ์ความคุ้มค่า (cost-effectiveness threshold: CET) ไว้ที่ 160,000 บาท/ปีสุขภาวะ การศึกษานี้พบว่า หากเกณฑ์ความคุ้มค่าที่กำหนดไว้สามารถสะท้อนค่าเสียโอกาสจากการลงทุนด้านสุขภาพได้ การใช้งบประมาณซื้อยาที่มีความคุ้มค่าจะมีแนวโน้มให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน กลับกัน หากการใช้งบประมาณซื้อยาที่ไม่มีความคุ้มค่า ก็จะทำให้ผลประโยชน์สูงสุดตกอยู่ที่บริษัทยาแทน
เนื่องจากเกณฑ์ความคุ้มค่าของประเทศไทยค่อนข้างต่ำ ทำให้บริษัทยามีโอกาสน้อยที่จะได้รับส่วนแบ่งอย่างยุติธรรมจากการจำหน่ายยาที่มีความคุ้มค่าให้กับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ทางแก้ปัญหาไม่ใช่การเพิ่มเพดานความคุ้มค่าอย่างเดียว เพราะหากเกณฑ์ความคุ้มค่าใหม่ไม่สะท้อนถึงค่าเสียโอกาสในการลงทุนด้านสุขภาพ อาจะทำให้ประชาชนสูญเสียประโยชน์จากการลงทุนด้านสุขภาพมากขึ้น ทางออกที่เหมาะสมคือ รัฐบาลต้องเพิ่มการลงทุนในระบบสุขภาพให้สูงขึ้นก่อน ซึ่งจะช่วยลดค่าเสียโอกาสจากการใช้จ่ายในแต่ละบาท เมื่อนั้นเกณฑ์ความคุ้มค่าจะสามารถปรับเพิ่มได้ และการจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อยาที่มีความคุ้มค่าจะทำให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างประชาชนและบริษัทอย่างยุติธรรม