logo
Download ดาวน์โหลด 59 ครั้ง
เข้าชม 199 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

การศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์โดยใช้แบบจำลองมาร์คอฟ เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนและผลลัพธ์ของการใช้แบบคัดกรองความเสี่ยงเพื่อคัดกรองผู้หญิงอายุ 40-70 ปีที่มีความเสี่ยงสูงเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราชาวด์โดยเปรียบเทียบกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราชาวด์แล้วแต่โอกาส และวิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอีก 5 ปีข้างหน้ากรณีบรรจุการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราชาวด์ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเข้าในชุดสิทธิประโยชน์และศึกษาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของมาตรการดังกล่าว

ผลการศึกษาพบว่า การใช้แบบคัดกรองความเสี่ยงโดยใช้ค่าคะแนนประเมินที่ 1.15 เพื่อคาดการณ์ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราชาวด์ทุก 1 ปี 2 ปี และ 3 ปี ยังไม่มีความคุ้มค่าในบริบทของประเทศไทยเมื่อเทียบกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราชาวด์แล้วแต่โอกาส โดยมีต้นทุนและประสิทธิผลส่วนเพิ่ม 6,417,403 บาทต่อปีสุขภาวะ

สำหรับภาระงบประมาณในช่วงระยะเวลา 5 ปี ของการคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแบประเมินความเสี่ยงก่อนการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราชาวด์ทุก 1 ปี 2 ปี และ 3 ปี ต้องใช้งบประมาณ 10,574 ล้านบาท 7,158 ล้านบาท และ 5,459 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อทำการวิเคราะห์ความไม่แน่นอนของตัวแปรที่ใช้ในแบบจำลองแบบทางเดียว พบว่า ตัวแปรที่มีผลต่อการวิเคราะห์ในการศึกษานี้ 3 อันดับแรก ได้แก่ ความไวของแบบประเมินความเสี่ยง ความน่าจะเป็นของการเปลี่ยนสถานะจากระยะปลอดโรคไปสู่ระยะกลับเป็นซ้ำ และต้นทุนของการคัดกรองด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราชาวด์ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้

  1. หากใช้ข้อมูลการศึกษาตามบริบทและแบบคัดกรองที่เสนอเมื่อ พ.ศ. 2564 นั้น การตรวจคัดกรองนี้จะไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และอาจไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงหรือโอกาสในทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้น้อยมากตามจำนวนเครื่องแมมโมแกรมที่มีอยู่
  2. ควรทำการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับการพัฒนาแบบคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทย ให้มีปัจจัยด้าน family history และ/หรือ genetics ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมในปัจจุบันร่วมด้วย

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่รายงานฉบับสมบูรณ์

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง