logo
Download ดาวน์โหลด 75 ครั้ง
เข้าชม 161 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

โรคกระดูกพรุนจากยาสเตียรอยด์ (Steroid-induced osteoporosis) ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและเป็นสาเหตุที่พบเป็นอันดับหนึ่งของโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ (secondary osteoporosis) ลักษณะเฉพาะของโรคพบได้บ่อยคือ การสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วในหลังจากเริ่มยาสเตียรอยด์ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานานส่งผลโดยตรงในการเพิ่มการสลายกระดูก (bone resorption) และยับยั้งกระบวนการสร้างกระดูก (bone formation) โดยเฉพาะในกระดูกสันหลัง ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักเพิ่มขึ้นกว่าปกติเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอายุเดียวกัน ทั้งนี้ พบหลักฐานเชิงประจักษ์ของยาหลายชนิดที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการเกิดกระดูกหักและรักษาโรคกระดูกพรุนจากยาสเตียรอยด์ แนวทางเวชปฏิบัติการรักษาของไทยและต่างประเทศแนะนำการรักษาด้วยกลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต (Biphosphonates) ได้แก่ Alendronate, Risedronate, Zoledronate และ Teriparatide อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมีเพียงยา Alendronate ที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ (จ2) และถูกใช้ในเงื่อนไขในโรคกระดูกพรุนปฐมภูมิสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีและมีประวัติกระดูกสะโพกหักเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2565-2567 ได้มอบหมายโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ให้ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินความคุ้มค่าของยา Alendronate ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุนจากการใช้ยาสเตียรอยด์ โดยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ การวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ และคำนวณผลกระทบด้านงบประมาณ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาพัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านยาและบรรจุยา Alendronate ในบัญชียาหลักแห่งชาติในเงื่อนไขการรักษาโรคกระดูกพรุนจากยาสเตียรอยด์ต่อไป

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง