การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (เช่น การประเมินต้นทุนประสิทธิผล (cost-effectiveness analysis: CEA) และการประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ (cost-utility analysis: CUA) เป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพที่เหมาะสม (1) ซึ่งการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเป็นการคำนวณต้นทุนและผลลัพธ์ที่เพิ่มขึ้นจากยาใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับยาเดิม และแสดงผลการประเมินในรูปแบบอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม(incremental cost-effectiveness ratio: ICER) ที่สามารถแสดงให้เห็นว่าการใช้ยาใหม่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นกี่บาทเพื่อทำให้ผู้ป่วยมีปีสุขภาวะที่เพิ่มขึ้น 1 หน่วย ซึ่งการพิจารณาว่ายานั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่ พิจารณาได้จากการมี ICER ที่ต่ำกว่าเพดานความคุ้มค่า (cost-effectiveness threshold: CET) ของประเทศ ดังนั้น เพดานความคุ้มค่าจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้พิจารณาว่ายารายการใดสมควร / ไม่สมควรบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งการกำหนดเพดานความคุ้มค่าที่สูงอาจส่งผลให้รายการยาที่มีความคุ้มค่ามีจำนวนมากขึ้นและเพิ่มภาระงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศมากขึ้นเมื่อเทียบกับการกำหนดเพดานความคุ้มค่าที่ต่ำกว่า
สหราชอาณาจักรและประเทศไทยเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีการกำหนดเพดานความคุ้มค่าไว้อย่างชัดเจนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย โดยหน่วยงาน National Institute for Health and Care Excellence (NICE) ของสหราชอาณาจักร ได้กำหนดเพดานความคุ้มค่าไว้ที่ 20,000 – 30,000 ต่อปีสุขภาวะ ตั้งแต่ปี 1999 และไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงเพดานความคุ้มค่าแม้แต่ครั้งเดียว (2) สำหรับประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพดานความคุ้มค่าที่ใช้ในการพิจารณาบัญชียาหลักแห่งชาติจำนวน 3 ครั้งในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2551 ได้มีการกำหนดเพดานความคุ้มค่าไว้ที่ 100,000 บาทต่อปีสุขภาวะ ก่อนจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 บาทต่อปีสุขภาวะในปี พ.ศ. 2553 และปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งเป็น 160,000 บาทต่อปีสุขภาวะในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นเกณฑ์ความคุ้มค่าที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น แม้ว่ามีหลายประเทศที่กำหนดเพดานความคุ้มค่าไว้อย่างชัดเจน แต่มีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่มีการเพิ่มเพดานความคุ้มค่าด้วยเหตุนี้ จึงเกิดคำถามว่า การเพิ่มเพดานความคุ้มค่าดังกล่าวมีผลต่อภาระ งบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของราคายาหรือไม่ อย่างไร