logo
Download ดาวน์โหลด 810 ครั้ง
เข้าชม 1479 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

การสร้างขีดความสามารถสำหรับการวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพในประเทศไทย

จอมขวัญ โยธาสมุทร*
อดุลย์ โมฮารา*
ยศ ตีระวัฒนานนท์*
ศรีเพ็ญ ตันติเวสส*,**

ลัดดา ดำริการเลิศ***
สุวรรณี ละออปักษิณ***

*โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
** สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
*** สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

บทคัดย่อ

การสร้างขีดความสามารถของการวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพนั้นมีความสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดศักยภาพที่จำเป็นสำหรับการบรรลุเป้าหมายทางด้านสุขภาพที่ตั้งไว้ ปัจจุบันการวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพส่วนหนึ่งประสบกับปัญหาอันเนื่องมาจากผลงานวิจัยไม่ได้ถูกนำไปใช้ในเชิงนโยบาย ทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุน ขาดระบบที่จะส่งเสริมการวิจัยที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการผลิตงานวิจัยที่ไม่ได้คุณภาพตามมา การเพิ่มขีดความสามารถของการวิจัยจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่จะมาขัดขวางการดำเนินไปของวงจรดังกล่าว

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถการวิจัยนโยบายและระบบสาธารณสุข วิธีศึกษาการสร้างขีดความสามารถสำหรับการวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพในประเทศไทยที่นำเสนอในบทความนี้แบ่งเป็นสามส่วนได้แก่ (๑) การทบทวนวรรณกรรม (๒) การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม กลุ่มเป้าหมายคือองค์กรเครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อทราบสถานะและช่องว่างของขีดความสามารถ และ (๓) การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จได้แก่ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ หน่วยระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อศึกษาประสบการณ์ของหน่วยงานทั้งสามในด้านการสร้างขีดความสามารถ

ผลการศึกษาส่วนแรกได้แก่ คำจำกัดความของการสร้างขีดความสามารถและแนวทางที่เป็นไปได้ในการสร้างขีดความสามารถ นอกจากนั้นในส่วนของผลจากการวิจัยเบื้องต้นยังชี้ให้เห็นความต้องการอย่างเร่งด่วนในการสร้างขีดความสามารถการวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพทั้งในระดับปัจเจกและระดับหน่วยงานในรูปแบบการศึกษาต่อ และการฝึกอบรม การสร้างเครือข่าย การมีส่วนร่วมจากผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายและสาธารณะในการจัดลำดับความสำคัญของการทำวิจัย การทำวิจัยและการนำผลการวิจัยไปใช้ จากการศึกษาประสบการณ์ของหน่วยงานทั้งสามพบปัจจัยสำเร็จหลายประการได้แก่ ผู้นำ ลักษณะทุนที่มีขนาดใหญ่ ระยะเวลานาน และมีความยืดหยุ่น จำนวนคนที่เพียงพอในการสร้างงานวิจัยและผลักดันผลงานวิจัย (critical mass) ความหลากหลายในด้านสาขาความเชี่ยวชาญของบุคลากร และงานวิจัยที่ตอบโจทย์เชิงนโยบาย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้นำไปใช้ในการจัดทำข้อเสนอแนะในการวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพสำหรับหน่วยงานวิจัยนโยบายและระบบสาธารณสุข

คำสำคัญ: การสร้างขีดความสามารถ, การวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

เชื่อมโยงวารสาร: http://www.hsri.or.th/th/download/index.php?key=download