การศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการใช้เทคโนโลยีเพทซีทีในประเทศไทย
อินทิรา ยมาภัย* นัยนา ประดิษฐ์สิทธิกร* ชนิสา โชติพานิช1
สุนันทา เชี่ยววิทย์2 อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ3 สามารถ ราชดารา4
ยุทธนา แสงสุดา5 สุฮวง ฐิติสัตยากร** สุรศักดิ์ ปริสัญญกุล***
ยศ ตีระวัฒนานนท์*
*โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
1ศูนย์ไซโคลตรอนและเพรสแกนแห่งชาติ สถาบันจุฬาภรณ์
2โรงพยาบาลศิริราช
3สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
4โรงพยาบาลวัฒโนสถ
5โรงพยาบาลราชวิถี
**กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
***กองรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
บทคัดย่อ
ปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่อง Positron Emission Tomography – Computed Tomography (PET/CT) หรือเพทซีทีจำนวน 5 เครื่อง แต่ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับความเหมาะสมและข้อบ่งชี้ในการใช้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจ ศึกษาต้นทุนของการตรวจ ความเหมาะสมในการกระจายและความเพียวพอของเครื่อง ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ประกอบด้วยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบจากฐานข้อมูล Pubmed เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในด้านความไว ความจำเพาะ และความแม่นยำ ของการใช้เครื่องเพทซีทีสำหรับตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งและโรคทางระบบประสาท ผลการทบทวนวรรณกรรมได้นำเสนอต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาข้อบ่งชี้สำหรับประเทศไทย การวิเคราะห์ต้นทุนใช้มุมมองผู้ให้บริการโดยเก็บเฉพาะข้อมูลต้นทุนตรงทางการแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช การวิเคราะห์ความเหมาะสมในการกระจายและความเพียงพอใช้ข้อมูลระบาดวิทยาของโรคที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนศึกษาความพร้อมด้านบุคลากรและด้านต่างๆ ในการดำเนินงาน
การศึกษา พบว่า การใช้เครื่องเพทซีทีในการตรวจวินิจฉัยมีประสิทธิผลสูงกว่าเครื่องมือวินิจฉัยเปรียบเทียบชนิดอื่นในมะเร็ง 8 ชนิด ได้แก่ (1) มะเร็งปากมดลูก (2) มะเร็งลำไส้ใหญ่ (3) มะเร็งหลอดอาหาร (4) มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (5) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (6) มะเร็งผิวหนัง (7) มะเร็งรังไข่ และ (8) มะเร็งต่อมไทรอยด์ และไม่พบวรรณกรรมที่บ่งชี้ประสิทธิผลของเครื่องเพทซีทีในการตรวจวินิจฉัยโรคทางระบบประสาท เมื่อวิเคราะห์จุดคุ้มทุนที่ระดับราคาค่าบริการและต้นทุนค่าสารเภสัชรังสีในปัจจุบัน การส่งตรวจวินิจฉัยจำนวนไม่น้อยกว่า 8 รายต่อสัปดาห์จึงจะทำให้โรงพยาบาลไม่ขาดทุน นอกจากนั้นพบว่าเครื่องเพทซีทีในประเทศมีเพียวพอกับจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องใช้ ด้านความเหมาะสมและการกระจายเครื่องไปยังภูมิภาคอื่นๆ พบข้อจำกัดที่สำคัญคือ การเพิ่มเครื่องผลิตสารเภสัชรังสีมีต้นทุนสูงและขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน
สรุปได้ว่าประเทศไทยยังไม่ควรมีการลงทุนซื้อเครื่องเพทซีทีเพิ่ม เนื่องจากมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการในปัจจุบันและยังมีการใช้ต่ำกว่าศักยภาพส่งผลให้โรงพยาบาลที่มีเครื่องส่วนใหญ่อยู่ในภาวะขาดทุน ดังนั้น ควรส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องเพทซีทีที่มีอยู่แล้วอย่างคุ้มค่าเหมาะสมตามข้อบ่งชี้ที่พัฒนาขึ้นในการศึกษานี้
คำสำคัญ: เพทซีที, มะเร็ง, ความเป็นไปได้, ความเหมาะสม, ข้อบ่งชี้, ต้นทุน, จุดคุ้มทุน