logo
Download ดาวน์โหลด 194 ครั้ง
เข้าชม 604 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้เปลี่ยนโลกที่เราอาศัยอยู่ และก่อให้เกิดความท้าทายต่อระบบสาธารณสุข ทั้งนี้ระบบสาธารณสุขจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ และเป็นบทเรียนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขไทยจึงมอบหมายให้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับระบบสุขภาพหลังการระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นความท้าทายที่สำคัญ และการวางแผนเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19

โครงการนี้ได้ทำการศึกษาประเด็นท้าทายสำคัญ 5 ประเด็น ซึ่งได้รับการระบุว่าเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19 ได้แก่ งบประมาณการจัดการด้านสุขภาพ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสถานพยาบาล การถ่ายโอนสู่ท้องถิ่น สุขภาพดิจิทัล (digital health) และการแพทย์ทางไกล (telemedicine) สำหรับประเด็นแรก ศึกษาการจัดการงบประมาณด้านสุขภาพสำหรับการตอบสนองต่อโรคโควิด 19 ในประเทศไทย ซึ่งมีการใช้งบประมาณที่มากในการจัดการการแพร่ระบาด และเพื่อประมาณการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด รวมทั้งทำความเข้าใจกระบวนการตัดสินใจ ผลการศึกษาพบว่า งบประมาณสำหรับโรคโควิด 19 เกินเพดานที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินการกู้งบประมาณเพิ่มเติม จากการศึกษาได้มีข้อเสนอแนะให้จัดตั้งกองทุนสำรองเพื่อใช้เป็นงบประมาณตั้งต้นสำหรับการระดมทรัพยากรช่วง 3-6 เดือนแรก ทำให้เกิดสภาพคล่องของการคลังสุขภาพในช่วงที่มีการแพร่ระบาดหรือในภาวะฉุกเฉิน และควรมีการใช้จ่ายงบประมาณจากแหล่งเงินสำรองดังกล่าวทุกปีในเรื่องการสำรวจเฝ้าระวังและพัฒนาระบบสุขภาพ ประเด็นสำคัญที่สอง เพื่อแก้ไขปัญหาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ได้มีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสถานพยาบาลในประเทศไทยเป็นครั้งแรก การประเมินนี้พบว่า การเดินทางของผู้ใช้บริการเป็นแหล่งปล่อยมลพิษที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือการใช้ไฟฟ้าของสถานพยาบาล ข้อเสนอแนะจากการศึกษาแนะนำให้สำรวจการใช้ telemedicine เพื่อลดการเดินทาง และตัวเลือกการประหยัดพลังงานในสถานพยาบาล สำหรับการศึกษานี้นำเสนอในการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (PMAC) พ.ศ. 2566 ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นท้าทายที่สาม ศึกษาทรัพยากรของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตามกระบวนการกระจายอำนาจและการเปลี่ยนผ่านจากกระทรวงสาธารณสุขไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากการศึกษาพบว่ามีประเด็นสำคัญคือ ประเด็นเกี่ยวกับการบริหารบุคลากร และการให้บริการ ในระหว่างการถ่ายโอนอำนาจ การสื่อสารกับสาธารณะเกี่ยวกับการถ่ายโอน ตลอดจนการติดตามความคิดเห็นจากผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ประเด็นท้าทายที่สี่ คือการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายบริการระบบติดตามระยะไกลสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ฝังในหัวใจ (CIED) จากผลการศึกษาพบว่า อุปกรณ์ส่วนใหญ่ใช้ในการให้บริการ ระบบการจัดการข้อมูลยังไม่ได้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล (hospital information system) แต่เป็นระบบการจัดการข้อมูลของบริษัทที่มีการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบคลาวด์บนเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ในระยะไกล (cloud storage) ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะในระยะสั้นและระยะยาวสำหรับการพัฒนาการให้บริการ คือ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทที่เพิ่มขึ้นของการแพทย์ทางไกลในประเทศไทย และแนวคิดที่การให้บริการการแพทย์ทางไกล เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก (WHO CCS) ด้านสุขภาพดิจิทัล และโครงการ Universal Digital และ Telehealth ในประเด็นท้าทายที่ห้า ส่วนหนึ่งของการศึกษานี้ ได้มีการระบุแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขทางไกล (telehealth)และมีการเสนอโครงสร้างการทำงานสำหรับการติดตามและประเมินผล (M&E) สาธารณสุขทางไกลสำหรับประเทศไทย นอกจากนี้ยังวิเคราะห์ข้อมูลการใช้บริการแพทย์ทางไกลจากฐานข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยพบว่าในช่วงการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มีการใช้บริการการแพทย์ทางไกลเพิ่มขึ้น

การศึกษานี้มีส่วนสนับสนุนฐานความรู้ในประเทศไทย และผลลัพธ์ที่สำคัญของโครงการ ได้แก่ ต้นฉบับ 1 ชุด Podcast ในหัวข้อต่าง ๆ และบทสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 8 ฉบับ โดยข้อเสนอแนะจากการศึกษาจะถูกนำเสนอให้กับผู้กำหนดนโยบายเพื่อพิจารณานำไปประยุกต์ใช้ ทั้งนี้การศึกษานี้เป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับระบบสาธารณสุข และกระทรวงสาธารณสุขไทยได้ก้าวไปสู่การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต