logo
Download ดาวน์โหลด 209 ครั้ง
เข้าชม 721 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

การศึกษานี้มีขึ้นเพื่อเรียนรู้กระบวนการทำงานของคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอรายการอุปกรณ์และ อวัยวะเทียมในการบำบัดรักษาโรค (Instruments) และอธิบายกระบวนการพิจารณาชุดสิทธิประโยชน์ของข้อเสนอรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดรักษาโรค โดยทีมวิจัยใช้วิธีการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์เชิงลึก และการอภิปรายกลุ่มเพื่อเก็บข้อมูล

ผลการศึกษาพบว่า การพิจารณาข้อเสนอรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดรักษาโรคเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์เป็นขั้นตอนการดำเนินงานที่มีการเชื่อมโยงหลายกระบวนการ ทั้งกระบวนการทำงานของคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอรายการอุปกรณ์ฯ โครงการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์หรือโครงการ UCBP กระบวนการทบทวนราคา และอื่น ๆ โดยสามารถสรุปเป็นกระบวนการในภาพรวมได้ 4 ขั้นตอน คือ  1) การเสนอหัวข้อ  2) การแบ่งกลุ่ม  3) การจัดลำดับหัวข้อ การประเมิน และการตัดสินใจ  4) การติดตามและประเมินผลภายหลังการประกาศให้รายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมถูกบรรจุเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ จากกระบวนการที่มีในปัจจุบัน ทีมวิจัยยังคงพบช่องว่างในการดำเนินการที่สามารถปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ ดังนี้ 1) เกณฑ์การยื่นเสนอหัวข้อรายการที่ไม่ชัดเจนสำหรับกลุ่มผู้มีสิทธิเสนอหัวข้อ 2) หัวข้อรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดรักษาโรคจำนวนมากถูกเสนอไปยังคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอรายการอุปกรณ์ฯ 3) ความกังวลของผู้ให้บริการ (บุคลากรทางการแพทย์) ต่อประเด็นการเบิกจ่ายค่า ชดเชยการให้บริการ 4) เกณฑ์การพิจารณาบางประเด็นไม่สอดคล้องกับลักษณะ/คุณสมบัติของเครื่องมือแพทย์ 5) การทบทวนข้อมูลของรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมโดยคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอรายการอุปกรณ์ฯ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับรายการนั้น ๆ 6) นิยามของรายการอุปกรณ์ใหม่ (new technology) ไม่ชัดเจน  7) การกำหนดกระบวนการหรือระยะเวลาในการทบทวนราคาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง  8) กระบวนการพิจารณารายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมเป็นกระบวนการเชิงรับเพียงอย่างเดียว และ  9) ข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลการดำเนินงานภายใต้กระบวนการพิจารณารายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดรักษาโรค

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1) สปสช. และ/หรือคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอรายการอุปกรณ์ฯ ควรกำหนดนิยามและเกณฑ์สำหรับการรับข้อเสนอรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมในแต่ละช่องทางให้ชัดเจน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนิยามหรือเกณฑ์ดังกล่าวให้แก่กลุ่มผู้มีสิทธิเสนอหัวข้อ

2) สปสช. ควรกำหนดนิยามของรายการอุปกรณ์ใหม่ (new technology) และสื่อสารให้คณะทำงาน/คณะอนุกรรมการ/บุคลากรในหน่วยงานรับทราบ

3) สปสช. ควรพัฒนาระบบข้อมูลสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้ในการตรวจสอบรายการอุปกรณ์อวัยวะเทียม หรือบริการที่สามารถเบิกจ่ายได้ในปัจจุบัน และประชาสัมพันธ์ระบบข้อมูลดังกล่าวให้มี

การใช้งานอย่างกว้างขวาง

4) สปสช. ควรกำหนดให้มีการทบทวนราคาของรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมเดิมอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ

5) สปสช. ควรจัดตั้งกลไกที่ทำหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และพัฒนาการกระบวนการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ให้เป็นไปในเชิงรุกมากขึ้น

6) สปสช. ควรพัฒนาระบบข้อมูลและระบบการกำกับติดตามการดำเนินงานของกระบวนการพิจารณารายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดรักษาโรคให้สามารถเข้าถึงได้โดยง่ายและสะดวกต่อการใช้งานเพื่อการตรวจสอบหรือศึกษาวิจัยในอนาคต

7) คณะทำงานพิจารณาข้อเสนอรายการอุปกรณ์ฯ กำหนดขอบเขตระยะเวลาสำหรับเปิดรับข้อเสนอรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมจากช่องทางต่าง ๆ

8) คณะทำงานพิจารณาข้อเสนอรายการอุปกรณ์ฯ ควรปรับเกณฑ์การพิจารณาให้สอดคล้องกับลักษณะของรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียม

9) คณะทำงานพิจารณาข้อเสนอรายการอุปกรณ์ฯ ควรพิจารณาเพิ่มกระบวนการการทบทวนข้อมูลเชิงวิชาการโดยทีมวิชาการที่เป็นบุคคลภายนอกหรือผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมที่ถูกเสนอหัวข้อรายการ ร่วมกับผู้เสนอหัวข้อและ/หรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง