logo
Download ดาวน์โหลด 1830 ครั้ง
เข้าชม 5713 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology Assessment หรือ HTA) เป็นการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสำหรับใช้สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในระบบสุขภาพ การประเมินต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ความปลอดภัย ประสิทธิผล ต้นทุน ความคุ้มค่า ผลกระทบต่อสังคมและจริยธรรม ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งรวมทั้งผล
กระทบทางตรง และผลกระทบทางอ้อมของการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพนั้น

คู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพถือเป็นรากฐานสำคัญและเป็นแนวทางด้านเทคนิคสำหรับการประเมินเทคโนโลยีในระบบสุขภาพ โดยสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) ได้ระบุถึงความสำคัญของการมีแนวทางการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการประเมินความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (health economic evaluation) ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดให้กระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบการดำเนินงาน รวมถึงการรายงานผล เป็นมาตรฐานและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศ

ประเทศไทย มีการพัฒนาคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพมาแล้ว 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2551 และฉบับที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2557 คู่มือฯ ทั้งสองฉบับนี้ เสนอแนะแนวทางการเลือกวิธีวิเคราะห์และแหล่งข้อมูลสำหรับใช้ในการประเมินอย่างเป็นระบบ จึงทำให้การประเมินที่ดำเนินการตามคำแนะนำในคู่มือๆ ดังกล่าวมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ คู่มือฯ ทั้งสองฉบับเป็นคู่มือหลักของคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยกำหนดให้นักวิจัยที่ประเมินเทคโนโลยีสุขภาพเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติหรือคัดเลือกเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้าเป็นชุดสิทธิประโยชน์ นอกจากนี้ คู่มือฯ ยังสามารถใช้เป็นตำราทางวิชาการของการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ในการเรียนการสอนสำหรับผู้ที่สนใจ นักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียกับเทคโนโลยีหรือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เช่น สมาคมวิจัยเภสัชภัณฑ์ และหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีด้านสุขภาพนั้น ทั้งนี้ คู่มือฯ ควรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ด้านเทคโนโสยีสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสร้างความท้าทายใหม่ให้แก่นักวิชาการด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ

ค้นหาใน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

10.12755/HITAP.res.2021.2

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง