logo
Download ดาวน์โหลด 216 ครั้ง
เข้าชม 747 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมรวมถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเจริญทางเทคโนโลยีซึ่งมุ่งเข้าหาสังคมเมืองและสังคมดิจิทัลทำให้เด็กมีกิจกรรมทางกายน้อยลงและเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนมากขึ้น ทั้งนี้ปัญหาโรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ทวีความสำคัญขึ้นในปัจจุบัน โดยพบว่าจำนวนเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนทั่วโลกมีเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีอัตราการเพิ่มของเด็กอ้วนสูงมากกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคอ้วนนั้นมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย ทั้งยังนำไปสู่การสูญเสียผลิตภาพ (productivity) และคุณภาพชีวิต (quality of life) รวมทั้งเป็นสาเหตุของการตายก่อนวัยอันควร (premature mortality) นอกจากนี้เด็กที่อ้วนจะมีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนด้วยถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่มีน้ำหนักปกติ

หลักฐานทางวิชาการพบว่า การโฆษณาอาหารส่งผลต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเด็ก ทั้งนี้พบว่าเด็กเป็นเป้าหมายทางการตลาดที่สำคัญเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไวต่อการถูกชักจูง รวมถึงขาดการตระหนักถึงผลที่จะตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการถูกชักจูงจากโฆษณา ซึ่งทำให้เด็กตัดสินใจซื้อสินค้าและบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนในที่สุด ในหลายประเทศได้มีการควบคุมโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพทั้งโดยการบังคับจากภาครัฐและการควบคุมด้วยความสมัครใจจากภาคเอกชน ทั้งนี้จากการสำรวจในประเทศไทยพบว่าการโฆษณาทางโทรทัศน์ส่วนใหญ่เป็นการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

การควบคุมโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพทางโทรทัศน์เป็นหนึ่งในมาตรการสำหรับแก้ไขและป้องกันปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนในเด็ก อย่างไรก็ตาม ยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนถึงผลกระทบของการโฆษณาต่อภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนในเด็ก ตลอดจนประสิทธิผลของมาตรการควบคุมโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพทางโทรทัศน์ในเด็กยังไม่ชัดเจน ดังนั้น แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program: IHPP) จึงได้มอบหมายให้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) ดำเนินการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อศึกษาถึงผลกระทบของโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพทางโทรทัศน์และประสิทธิผลของมาตรการควบคุมโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพทางโทรทัศน์ในเด็ก ซึ่งจะสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการดังกล่าวได้

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง