การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) เป็นการดูแลเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้ายและครอบครัว ด้วยการบรรเทาและป้องกันอาการปวด รวมถึงอาการไม่สบายอื่น ๆ โดยยากลุ่มโอปิออยด์เป็นยาหลักที่ถูกนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว แม้ประเทศไทยจะบรรจุโครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (service plan) ของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2553 แล้วก็ตาม แต่ในปี พ.ศ. 2561 ยังคงพบปัญหาการเข้าไม่ถึงยากลุ่มโอปิออยด์จากกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งอยู่ โดยกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งได้เสนอหัวข้อ “การเข้าไม่ถึงยามอร์ฟีนในผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง” เข้าสู่กระบวนการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ในปี พ.ศ. 2563 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อศึกษาและสังเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเข้าถึงยากลุ่มโอปิออยด์
รายงานฉบับนี้เป็นการรวบรวมและการสังเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าถึงยากลุ่มโอปิออยด์ สำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก่คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)