logo
Download ดาวน์โหลด 396 ครั้ง
เข้าชม 1303 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

การได้ยินเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพูดและพัฒนาการทางภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 3 ปีแรกของชีวิต หากเด็กมีความผิดปกติทางการได้ยินจะส่งผลกระทบโดยตรงกับพัฒนาการด้านการพูดและภาษารวมถึงการเข้าสังคม การเรียน ภาวะจิตใจ ความจำ พฤติกรรม อารมณ์ และสูญเสียโอกาสทางสังคมเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ในต่างประเทศมีนโยบายสำหรับการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดและมีการดำเนินงานมาอย่างยาวนาน โดยหน่วยงานด้านการได้ยินในทารกแรกเกิดของประเทศสหรัฐอเมริกา (JCIH) ได้ผลักดันให้เกิดการตรวจหาความผิดปกติทางการได้ยินและการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กทารกแรกเกิดทุกราย (Universal newborn hearing screening program, UNHSP) โดยแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองการได้ยินภายในอายุ 3 เดือน และรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินภายในอายุ 6 เดือน สำหรับประเทศไทยกำหนดให้มีนโยบายการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง (high risk) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรทางการแพทย์ที่ไม่สามารถผลักดันการตรวจคัดกรองในทารกทุกรายได้

จากการประชุมคณะทำงานคัดเลือกหัวข้อเทคโนโลยีและปัญหาสุขภาพภายใต้กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในปี พ.ศ. 2561 ภายใต้หัวข้อ “ชุดคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด” (เสนอโดย ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย) คณะทำงานฯ ได้พิจารณาว่าปัญหาหลักของการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดของประเทศไทย คือ ระบบการเบิกจ่ายชดเชยการให้บริการที่ไม่เหมาะสมกับราคาจริงซึ่งส่งผลให้สถานพยาบาลในบางพื้นที่ไม่ให้บริการ สปสช. จึงมอบหมายให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ดำเนินการจัดหานักวิจัยและมอบหมายให้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ทำการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการให้บริการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดในประเทศไทย ภายหลัง HITAP ได้จัดประชุมเพื่อกำหนดคำถามและขอบเขตงานวิจัยขึ้นในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ทำการศึกษาวิจัยให้มีความครอบคลุมทั้งระบบบริการที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่บริการการตรวจคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย และการรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน เพื่อให้งานวิจัยสะท้อนถึงการให้บริการได้อย่างแท้จริง โดยมุ่งเน้นการตรวจคัดกรองในทารกแรกเกิดทุกราย

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง