logo
Download ดาวน์โหลด 1115 ครั้ง
เข้าชม 2603 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม

ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรไทย

ภญ. ประพักตร์ เนรมิตพิทักษ์กุล*,**
นส. ชนิดา เลิศพิทักษ์พงศ์ *
นส. จอมขวัญ โยธาสมุทร *
ผศ.ดร.ภญ. อุษา ฉายเกล็ดแก้ว*,**
ผศ.ดร.ภญ. มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์*,**
ดร. นพ. ยศ  ตีระวัฒนานนท์ *

* โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program, HITAP), กระทรวงสาธารณสุข
** ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

บทคัดย่อ

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย จิตใจและชีวิตความเป็นอยู่ทางสังคมโดยรวม ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมากกว่า 60 โรค ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอย่างมาก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่พบการศึกษาที่ทำการประเมินค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรไทยอย่างครอบคลุมและเป็นระบบ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพเนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้มุมมองระบบสาธารณสุข โดยเริ่มต้นจากการคำนวณสัดส่วนของการเกิดโรคต่างๆจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol-Attributable Fractions, AAFs) โดยใช้ ข้อมูลความชุกของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรไทย และความเสี่ยงสัมพัทธ์ของการเกิดโรคต่างๆ ที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์โดยแบ่งตามอายุและเพศ ซึ่งได้มาจากการทบทวนวรรณกรรมที่เป็นการวิเคราะห์เชิงอภิมาน (meta-analysis) ทั้งนี้ผลคูณของ AAFs กับจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่เป็นโรคต่างๆ ในประเทศไทยจะเท่ากับจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ จากนั้นจึงทำการคำนวณ ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพเนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยนำจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้คูณกับต้นทุนต่อหน่วยของการรักษาโรคทั้งจากแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน

จากผลการศึกษาพบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์มีมูลค่าสูงถึง5,491.2 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพที่เกิดจากผู้ป่วยนอก 2,488.1 ล้านบาทและผู้ป่วยใน 3,003.1 ล้านบาท สัดส่วนค่าใช้จ่ายในงานบริการผู้ป่วยในคิดเป็นร้อยละ  55 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด  จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ผู้วางแผนนโยบายสามารถนำข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปใช้เพื่อการประเมินและกำหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อไป
คำสำคัญ:  ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ, การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ประชากรไทย

เชื่อมโยงวารสาร: http://www.hsri.or.th/th/download/index.php?key=download

 

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง